นกเงือกกรามช้างปากเรียบเป็นนกที่มีลำตัวขนาดใหญ่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียก็คล้ายกับนกเงือกกรามช้าง แต่ขนาดตัวเล็กกว่า นกเงือกกรามช้างปากเรียบ ตัวผู้ไม่มีแถบสีดำใต้คอ ถุงหนังใต้คางมีสีฟ้าเข้ม และตัวเมียถุงหนังใต้คางสีเหลือง ทั้งตัวผู้และตัวเมียบริเวณโคนปากล่างแดงแกมน้ำตาล จะมีขาวงาช้างและที่น่าสังเกตโคนปากเรียบ ไม่มีรอยขยักเหมือนนกเงือกกรามช้าง นกเงือกกรามช้างปากเรียบกระจายพันธุ์อยู่ในหลาย ๆ ประเทศ ตั้งแต่ประเทศเมียนมา มาเลเซีย เกาะสุมาตรา หมู่เกาะโมลุกกะ และหมู่เกาะโซโลมอน พบตามป่าดงดิบแล้ง และป่าเบญจพรรณ ตั้งแต่พื้นราบจนกระทั่งระดับเชิงเขา สำหรับประเทศไทยพบนกเงือกกรามช้าง อาศัยโพรงไม้วางไข่ออกลูกอยู่บริเวณผืนป่าตะวันตก หรือตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลางและภาคใต้ ต่อไปถึงประเทศมาเลเชีย ถือเป็นนกหายากอีกชนิดหนึ่งของไทย หรือพบได้บ้างในบางพื้นที่ แต่ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคมของทุกปี พบว่านกเงือกกรามช้าง จะรวมฝูงและอพยพจากเหนือลงไปทางภาคใต้ บ้างก็แวะพักตามป่าใกล้ชุมชนหมู่บ้านหรือตามป่าเชิงเขา ก่อนที่นกเงือกจะไปรวมตัวกันเป็นฝูงใหญ่หลายร้อยตัวที่อุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี จังหวัดสงขลา ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเชีย

การที่นกเงือกกรามช้างปากเรียบอพยพ รวมฝูงครั้งละหลายร้อยตัวนั้นทางภาคใต้ ถือเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นทางธรรมชาติ นกเงือกกรามช้างปากเรียบหลายร้อยตัวบินอพยพมาทั่วสารทิศ นัดพบกันในเขตอุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรี จังหวัดสงขลา และมีอพยพให้เห็นต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพราะตามปกติช่วงหลัง ๆ นี้ ไม่ปรากฏว่าจะมีนกเงือกชนิดนี้ ผสมพันธุ์วางไข่ตามโพรงไม้ ทางภาคใต้จะพบก็ต่อเมื่อมีการอพยพเข้ามาหากินในเขตอุทยานแห่งชาติเขาน้ำค้างและอุทยานแห่งชาติสันกาลาคีรีเป็นครั้งคราวเท่านั้น จึงไม่แปลกที่จะมีกลุ่มอนุรักษ์ นักท่องเที่ยว รวมทั้งช่างภาพสายนกต่างก็ไปเฝ้ารอเก็บภาพนกเงือกกรามช้างรวมฝูงกันเป็นจำนวนมาก.

บุญเลิศ ชายเกตุ