“ความไว้ใจ” เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราละเลยมาตรการป้องกันโรคระบาดส่วนบุคคลไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การแยกกันรับประทานอาหาร และการเว้นระยะห่างจากกัน ทำให้ขณะนี้พบอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในเพื่อนฝูง คนรู้จักมักจี่ ที่สำคัญคือการติดเชื้อในครอบครัว ติดกันเกือบทั้งบ้าน หรือ “ติดยกครัว”

คำถามที่ตามมาคือแล้วจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในสถานการณ์เช่นนี้ เพราะจากตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งวันละหมื่นกว่าราย ทำให้กระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาตรการให้ผู้ป่วยที่อาการไม่มาก หรือไม่มีอาการที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ให้รับการรักษาดูแลตัวเองที่บ้าน (Home Isolation) หรือดูแลกันในชุมชน (Community Isolation) เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หลายคนยอมรับชะตากรรมว่าถึงอย่างไรก็คงต้องติดกันทั้งบ้าน จึงเลือกที่จะไม่ป้องกันตัวเองเมื่อยามอยู่กับคนที่รักในครอบครัว

อย่างไรก็ตาม เรื่องการป้องกันไม่ให้คนที่รักในบ้านต้องติดเชื้อไปกับเราด้วยนั้น ไม่ใช่ว่าจะไม่สามารถทำได้ เพราะมีตัวอย่างให้เห็นในหลาย ๆ ครอบครัวว่าเขาสามารถทำได้จริง โดยใช้ความรักนำทางสู่การปฏิบัติ “มาตรการควบคุมโรคส่วนบุคคล” คือการเว้นระยะห่างของคนในบ้าน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา แยกข้าวของเครื่องใช้ และแยกกันรับประทานอาหาร เป็นต้น

ทั้งนี้ “สกุลศรี บุญโชติอนันต์” ผู้ป่วยที่ติดโควิดจนเกือบครบทุกคนในครอบครัว บอกเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ครอบครัวมีกันทั้งหมด 4 คน พ่อ แม่ และลูก 2 คน คนโตเป็นผู้หญิง ส่วนคนเล็กเป็นชายอายุ 18 ปีป่วยเป็นออทิสติก ที่ยังพอสื่อสารและช่วยเหลือตัวเองได้ แม้จะไม่คล่องแคล่วเหมือนเด็กทั่วไป

เมื่อราว ๆ ต้นเดือน ก.ค. สามีของตนซึ่งทำงานที่โรงงานแห่งหนึ่ง ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้สามีกลายมาเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัวเองเป็นเวลา 14 วัน แต่ตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่าชะล่าใจกัน คิดว่าคงไม่ติดเชื้อ เลยใช้ชีวิตร่วมกันในครอบครัวตามปกติ ไม่ได้แยกตัว ไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย ยังรับประทานอาหารดูทีวีด้วยกัน

จนกระทั่งไปตรวจหาโควิดทั้งครอบครัวและทราบผลเมื่อประมาณวันที่ 8 ก.ค. มีการติดเชื้อกันทั้งหมด 3 คน คือ ตน สามี และลูกชาย ส่วนลูกสาวที่อยู่ด้วยกันไม่ติดเชื้อ ทั้งนี้ สามีถูกส่งไปที่ รพ.สนาม ส่วนตนพยายามหาเตียงที่เหมาะสม ระหว่างนี้ก็รีบทำการป้องกันไม่ให้ลูกสาวต้องติดเชื้อไปด้วยอีกคน โดยแยกตัวออกจากกันเด็ดขาด สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา อยู่ในห้องของใครของมัน แยกกันรับประทานอาหาร

มาตรการที่เราทำนั้น เพื่อไม่ให้มีใครต้องติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งต้องยอมรับว่าในช่วงแรก ๆ นั้นค่อนข้างลำบาก เพราะลูกชายที่ติดโควิด อย่างที่บอกว่าน้องเป็นออทิสติก การดูแลจะยากกว่าคนทั่วไป แต่โชคดีที่ว่าก่อนหน้านี้เราได้พยายามสอนให้น้องรู้จักโรค รู้จักการป้องกันและรักษาโรค จึงทำให้เขาพอจะเข้าใจ แต่ก็มีงอแงบ้าง

เพราะน้องชายก็คิดถึงพี่สาว อยากออกมาเจอกัน อยากออกมาเล่นของเล่นที่ห้องข้างล่าง ตอนแรก ๆ เราก็ยอมมาเล่น 1-2 วัน และค่อย ๆ ทำความเข้าใจกับเขาว่าเราเป็นผู้ติดเชื้อโควิด–19 เราต้องระวังไม่ให้พี่สาวติดไปกับเราด้วย จนกระทั่งหลัง ๆ น้องเริ่มเข้าใจ

การใช้ชีวิตในบ้าน ใช้ห้องนํ้าต่าง ๆ การกิน การอยู่เปลี่ยนไปหมดใช้เสร็จเราต้องรีบทำความสะอาด ฆ่าเชื้อโรค จนถึงวันนี้ผ่านมาจนเกือบจะครบ 14 วันแล้ว ที่เราทำอยู่ ตัวเรายังไม่มีอาการอะไร ส่วนลูกชายได้รับการเอกซเรย์พบว่าปอดเริ่มมีปัญหา แต่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องยา และเรื่องการดูแลสุขภาพต่าง ๆ จากมูลนิธิ ภาคประชาสังคมคอยดูแลช่วยเหลืออยู่

“แน่นอนว่าวันนี้ตนและลูกชายที่ติดเชื้อก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร สิ่งสำคัญคือการที่เราพยายามยกการ์ดสูง มันสามารถป้องกันไม่ให้ลูกสาวต้องติดเชื้อไปด้วยได้”

คอลัมน์ : คุณหมอขอบอก

เขียนโดย : อภิวรรณ เสาเวียง