ดร.สาธิต ปรัชญาอริยะกุล เลขาธิการและผู้อำนวยการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย (TSPCA) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ TSPCA ได้ลงพื้นที่ติดตามการรักษาช้าง ที่หมู่บ้านช้าง จ.สุรินทร์ ของนายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ รู้สึกประทับใจในความมุ่งมั่น ทุ่มเทและเสียสละในการอุทิศตน ในการรักษาช้างของคุณหมอเป็นอย่างยิ่ง เมื่อชายสูงวัยอายุ 70 กว่าปี ที่ต้องขับรถด้วยตนเองคนเดียวระยะทางกว่า 450 กิโลเมตร ประจำทุกเดือน เพื่อรักษาช้างมากกว่า 200 เชือก โดยออกค่าใช้จ่ายด้วยเงินของตนเอง และไม่เรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากควาญช้าง

เมื่อศึกษาถึงวิธีการทำงานและติดตามชีวประวัติ นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ ยิ่งน่าชื่นชม เห็นควรค่าแก่การยกย่องเชิดชูเกียรติด้านความทุ่มเทเสียสละเป็นอย่างยิ่ง สำหรับคุณหมอเกิดเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2494 จบมัธยมปลายที่ โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ. 2510 (เตรียมอุดม รุ่น 30) ได้เข้าศึกษาต่อในระดับชั้นอุดมศึกษาจนจบที่ คณะวิทยาศาสตร์ สาขาสัตววิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2515 (วิทยาศาสตร์ จุฬา รุ่น 12) และได้จบการศึกษา สัตวแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมอันดับ 2 คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2517 (สัตวแพทย์ รุ่น 33) ในปี พ.ศ. 2524 ได้รับประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญด้านสัตวบาล จากประเทศอิตาลี ในปี พ.ศ.2533 ได้รับประกาศนียบัตรสถาบันจิตวิทยาความมั่นคง รุ่น 60 ในปี พ.ศ. 2539 ได้รับประกาศนียบัตรสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หลักสูตรการพัฒนาระดับสูงสำหรับผู้บริหาร รุ่นที่ 7 และได้รับพระราชทานปริญญาบัตร สัตวแพทยศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ.2563

ประสบการณ์การทำงาน เริ่มต้นเข้ารับราชการในส่วนของ สัตวแพทย์ประจำแผนกบำรุงสัตว์ สวนสัตว์ดุสิต เมื่อปี พ.ศ.2518 จนกระทั่งถึงปี พ.ศ.2536 ได้ดำรงตำแหน่ง นักบริหาร 8 ผู้อำนวยการสวนสัตว์ดุสิต ในปี พ.ศ.2543 ได้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนพัฒนาสวนสัตว์ องค์การสวนสัตว์ และนายสัตวแพทย์ช่วยราชการ สำนักพระราชวัง ในปี พ.ศ.2554 ได้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และในปี พ.ศ.2556 ได้ดำรงตำแหน่งสัตวแพทย์สำนักพระราชวัง จนถึงปี พ.ศ.2560 โดยตลอดระยะเวลาที่ทำงาน ยังได้รับรางวัลต่าง ๆ เช่น สัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ดีเด่น ประจำปี 2535 จาก สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์ สัตวแพทย์ตัวอย่าง ประจำปี 2540 จากสัตวแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จุลจอมเกล้า ชั้นตติยจุลจอมเกล้าวิเศษ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เมื่อปี พ.ศ.2543 ได้รับรางวัลสัตวแพทย์ ศิษย์เก่าดีเด่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประจำปี พ.ศ.2545

งานด้านสังคมคุณหมอได้รับเชิญเป็นอาจารย์พิเศษประจำจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ศรีวิชัย เป็นกรรมการมูลนิธิช้างแห่งประเทศไทย เป็นกรรมการวิชาการ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานกรรมการด้านสุขภาพช้างของสถาบันวิจัย และบริการสุขภาพช้างแห่งชาติ กรมปศุสัตว์ เป็นสัตวแพทย์ดูแลรักษาช้างป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน กรมป่าไม้ เป็นกรรมการโครงการทดลองนำช้างไปใช้ในการลาดตระเวนป่า และเพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กรมป่าไม้ เป็นหัวหน้าศูนย์สวัสดิภาพช้างและสัตว์ป่า องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นกรรมการกำกับนโยบายช้างแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ เป็นกรรมาธิการพิจารณาพระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ สภาผู้แทนราษฎร โดยร่วมผลักดันให้เกิด พระราชบัญญัติป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ ปี พ.ศ.2557 และเป็นกรรมการสมาคมป้องกันการทารุณสัตว์แห่งประเทศไทย จนถึงปัจจุบัน

 ตลอดชีวิตการทำงาน นายสัตวแพทย์อลงกรณ์ มหรรณพ ได้อุทิศตนและเสียสละ ใช้วิชาความรู้ที่ได้รับมาจากครูบาอาจารย์ ที่สั่งสอนมา และเรียนรู้จากตำราทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษรวมทั้งสัตวแพทย์จากต่างประเทศ คิดค้นอุปกรณ์ และเครื่องมือในการยิงยาสลบ และยารักษาช้างจากระยะไกล โดยไม่ต้องเข้าไปใกล้ตัวช้าง ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับช้างเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นทางกายวิภาคศาสตร์ สรีรวิทยา พยาธิวิทยา เภสัชวิทยา การรักษาทางอายุรกรรม การผ่าตัด การวางยาสลบในท่ายืน ฯลฯ จนสามารถที่จะช่วยเหลือช้างให้ปลอดภัยทั้งจากโรคติดต่อและอุบัติเหตุที่เกิดจากช้างได้เป็นจำนวนมาก โดยตลอดระยะเวลาการทำงานมา 45 ปี (2519-2564) ได้ช่วยเหลือช้างไปประมาณกว่า 2,000 เชือก ใช้เข็มฉีดยาไปมากกว่า 30,000 เข็ม และในปัจจุบันก็ยังคงดำเนินการตรวจรักษาช้างและให้ยาป้องกันโรคติดต่อแก่ช้างที่ หมู่บ้านช้าง จ.สุรินทร์ เป็นประจำทุกเดือน เพื่อขจัดโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสให้หมดไปจากพื้นที่ ซึ่งมีช้างที่อยู่ในความดูแลประมาณ 200 เชือก.