กว่าหนึ่งร้อยปีที่เกษตรกรที่อยู่อาศัยรอบ ๆ ทะเลน้อย ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านในตำบลพนางตุง ทะเลน้อย อ.ควนขนุน จ.พัทลุง ต.บ้านขาว อ.ระโนด จ.สงขลา และ ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ประกอบอาชีพหลักด้วยการลงทุนเลี้ยงควายปล่อยให้หากินอยู่ในพื้นที่ทะเลน้อย และเป็นอาชีพที่ตกทอดต่อเนื่องมาตั้งแต่รุ่นปู่จนมาถึงรุ่นหลานหรือยาวนานมามากกว่า 100 ปี ปัจจุบันมีชาวบ้านเลี้ยงควายเป็นอาชีพประมาณ 100 ครอบครัว มีควายอยู่ในครอบครองมากกว่า 3,000 ตัว

การประกอบอาชีพเลี้ยงควายปล่อยทุ่งให้หากินอยู่ในพื้นที่รอบ ๆ ทะเลน้อยนั้น เจ้าของจะปล่อยควายให้ว่ายน้ำหากินอยู่รวมกันฝูงละ 50-300 ตัว แต่เมื่อถึงเวลาพักผ่อนช่วงเย็น ควายแต่ละตัวก็จะแยกฝูงไปทำให้เจ้าของรู้ว่าควายตัวไหนเป็นของใคร และการเลี้ยงควายในช่วงหน้าแล้งก็สะดวกสบายที่ไม่ต้องเฝ้าดูแลอะไรมากนัก ฝูงควายก็จะหากินอยู่ตามทุ่งหญ้าริมน้ำหรือในทะเลน้อยในช่วงกลางวัน ตอนกลางคืนควายก็จะนอนพักอยู่ตามเนินดิน บางส่วนก็ลงไปนอนพักผ่อนอยู่ในน้ำ เพื่อป้องกันแมลงไต่ตอม โดยที่เจ้าของไม่จำเป็นต้องล่องเรือไปต้อนควายเข้าคอก แต่เมื่อถึงช่วงหน้าฝนของทุกปีน้ำในทะเลน้อยจะเพิ่มระดับสูงขึ้นและจะท่วมทุ่งหญ้า ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ก็จะต้องว่ายน้ำและดำน้ำกินหญ้าทั้งกลางวันและกลางคืน โดยฝูงควายจะใช้ชีวิตเป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำจนผู้คนที่พบเห็นก็จะเรียกว่าควายน้ำทะเลน้อย เพราะฝูงควายจะนอนกินอยู่ในน้ำนานกว่า 3 เดือน จึงทำให้ควายที่มีอายุมากร่างกายไม่แข็งแรงหรือลูกควายที่เกิดใหม่ ๆ ช่วงหน้าฝนก็จะจมน้ำตายในช่วงน้ำท่วมในทุก ๆ ปี

สำหรับการเลี้ยงควายในทะเลน้อยก็เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรรอบ ๆ ทะเลน้อยอย่างเป็นกอบเป็นกำ เมื่อควายที่ปล่อยเลี้ยงไว้โตเป็นควายหนุ่มสาวหรืออายุได้ประมาณ 2-3 ปี เจ้าของก็จะจับควายขายให้กับพ่อค้า ที่มารับซื้อเพื่อส่งออกไปต่างจังหวัดและต่างประเทศ ในราคาตัวละประมาณ 1-4 หมื่นบาท แต่เจ้าของจะนิยมจับควายขายปีละ 1 ครั้ง ๆ ละหลาย ๆ ตัว

ควายทะเลน้อย นอกจากเจ้าของจะเลี้ยงเพื่อขายสร้างรายได้แก่ครอบครัวแล้ว ช่วงระหว่างที่เลี้ยงปล่อยไว้ในทะเลซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวทะเลน้อยที่ผู้คนนิยมล่องเรือชมธรรมชาติในทะเลน้อยแล้ว ฝูงควายที่ว่ายน้ำหรือดำน้ำหากินอยู่ในทะเล ก็จะเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จะจ้างเหมาเรือล่องทะเลออกไปชมบัวแดงและดูควายน้ำกันเป็นจำนวนมาก ควายน้ำที่ชาวบ้านเลี้ยงในทะเลน้อยนอกจากจะทำรายได้ให้กับเจ้าของแล้ว ควายน้ำก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวของจังหวัดพัทลุงมีสีสันและทำรายได้ให้แก่ชาวบ้านมากขึ้น

แต่อย่างไรก็ตามในปีนี้ถือว่าเป็นปีที่เกิดวิกฤติต่อชีวิตควายน้ำอย่างรุนแรง เมื่อสภาพอากาศเปลี่ยนแปลง ฝนตกไม่ตรงฤดูกาลและฝนตกมากต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมขังแปลงหญ้าทุ่งแหลมดิน ทุ่งบ้านขาว และควนขี้เสียน ซึ่งเป็นแหล่งอาหารของควายทะเลน้อย เมื่อเกิดน้ำท่วมต่อเนื่องมากกว่า 6 เดือน ควายที่ชาวบ้านเลี้ยงไว้ขาดอาหาร หญ้าใต้น้ำที่ควายสามารถดำน้ำเล็มหญ้ากินได้ พื้นที่ก็ถูกน้ำท่วมทำให้หญ้าใต้น้ำตายเน่าก็เหลือแต่ขี้โคลน

การที่ชาวบ้านคิดจะอพยพควายขึ้นจากทะเลไปพักอยู่ตามริมน้ำเหมือนเมื่อครั้งอดีต ก็ไม่สามารถทำได้อีกแล้วเพราะรอบ ๆ ทะเลน้อย จากพื้นที่ป่าพรุก็ได้กลายมาเป็นนาข้าวและสวนปาล์มของชาวบ้าน จึงทำให้ควายทะเลน้อยขาดอาหารจนผอมโซและจมน้ำตายไปแล้วมากกว่า 150 ตัว แม้ว่าเจ้าของควายและส่วนราชการได้ยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือด้วยการจัดหาหญ้าและยารักษาโรคมามอบให้ก็ยังไม่เป็นผล เนื่องจากควายที่ชาวบ้านเลี้ยงปล่อยไว้ในทะเลน้อยมีจำนวนมาก และควายยังอดอาหารตายจมอยู่ในน้ำเป็นรายวัน และถ้าหากยังไม่มีมาตรการป้องกัน แก้ปัญหาและสร้างความมั่นคงทางอาหาร อนาคตควายทะเลน้อยก็จะเหลือแต่ตำนานในที่สุด.

บุญเลิศ ชายเกตุ