ร่าง พ.ร.บ.มาตรการป้องกันการกระทำความผิดซ้ำในความผิดเกี่ยวกับเพศหรือที่ใช้ความรุนแรง พ.ศ. ….  เป็นหนึ่งในกฎหมายเกี่ยวข้องโดยตรงกับปมปัญหาและกำลังถูกจับตา ภาพสังคมจะเปลี่ยนไปอย่างไรหากมีกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะมิติใหม่ๆ ที่ต้องทำความเข้าใจอย่างการใช้ “มาตรการทางการแพทย์” ที่เป็นรูปธรรม ที่มาพร้อมความคาดหวังผลลัพธ์การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นหลังพ้นโทษ

นายชัยวัฒน์ ร่างเล็ก รอง ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม (สกธ.) หนึ่งในหน่วยงานหลักที่ผลักดันร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เผยเป้าหมายหลักของกฎหมายคือสังคมต้องได้รับความปลอดภัยมากขึ้นจากกลุ่มผู้พ้นโทษ โดยเฉพาะในผู้หญิงและเด็ก ผู้กระทำผิดคดีทางเพศที่มีลักษณะรุนแรงมักเป็นกลุ่มที่มีภาวะบกพร่องทางกาย และทางจิต 

ที่ผ่านมาการลงโทษคนกลุ่มนี้ไม่มีหลักฐานวิชาการชี้ชัดว่า การต้องโทษจำคุกเป็นเวลานานแล้วจะทำให้อาการทางกายหรือจิตหายเป็นปกติได้ เป็นที่มาการของพิจารณากฎหมายที่จัดสัดส่วนระหว่างคุ้มครองความปลอดภัย “สุจริตชน” กับการจำกัดสิทธิ “บุคคลอันตราย” เท่าที่จะไม่กระทบกับการใช้ชีวิตจนเกินไป ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนสากล

ทั้งนี้ หลายประเทศทั้งฝรั่งเศส ออสเตรเลีย เยอรมนี อเมริกา ต่างมีกฎหมายลักษณะเดียวกัน เมื่อนักโทษเหล่านี้ไม่ใช่แค่ต้องโทษจำคุกแล้วจบ แต่รัฐต้องเข้าไปเยียวยาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจด้วยการนำมาตรการทางการแพทย์ไปใช้ด้วย ซึ่งมาตรการแก้ไขฟื้นฟูจะเริ่มตั้งแต่ระหว่างรับโทษ เพื่อลดแนวโน้มออกไปกระทำผิดซ้ำ หากระหว่างรับโทษแต่ยังประเมินว่ามีความเสี่ยงสูงอยู่ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะยังมีมาตรการเฝ้าระวังหลังพ้นโทษรองรับ ทำให้รัฐสามารถเฝ้าระวังต่อเนื่องหลังพ้นโทษได้อีกไม่เกิน 10 ปี เช่น ติดอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ (อีเอ็ม) เพื่อสอดส่อง ถือเป็นรูปแบบเฝ้าระวังเบาสุด แต่หากประเมินโดยผู้เกี่ยวข้องแล้วว่ายังเป็นอันตรายกับคนทั่วไป หากพ้นโทษยังสามารถใช้มาตรการ “คุมขัง” โดยศาลเป็นผู้ออกคำสั่งได้อีก แต่ไม่เกิน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม มีข้อห่วงใยจำนวนมากในประเด็นการให้สารเคมี หรือฉีดฮอร์โมน เพื่อลดความต้องการทางเพศ ซึ่งเป็นมาตรการทางการแพทย์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย รอง ผอ.สกธ. ยอมรับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากเจตนากฎหมายที่ไม่ใช่การทรมาน และไม่ได้ใช้กับนักโทษทุกราย ต้องเป็นรายที่ผ่านการประเมินและวินิจฉัยความผิดปกติทางเพศที่จำเป็นให้การรักษาเท่านั้น เช่น อาการใคร่เด็ก หรือมีความต้องการทางเพศสูงเกินปกติ

ยกตัวอย่าง คนทั่วไปอาจมีความต้องการไม่เกินวันละ 1-2 ครั้ง หรือ 2-3 วันครั้ง แต่คนที่ผิดปกติจะมีความต้องการทางเพศสูง 20-30 ครั้งต่อวัน ซึ่งกระทบกับการใช้ชีวิตปกติมาก เมื่อออกมาใช้ชีวิตภายนอกแล้วเจอสิ่งเร้า ก็มีโอกาสที่เกิดเหตุซ้ำอีกเพราะควบคุมตัวเองไม่ได้

“สังคมอาจเข้าใจว่าฉีดเพราะเคียดแค้น หรือให้เกรงกลัวกฎหมาย แต่ไม่ใช่เลยเพราะเป้าหมายการฉีดคือรักษา เพื่อให้กลับไปใช้ชีวิตปกติและปลอดภัยกับสังคมมากขึ้น”

รอง ผอ.สกธ. ย้ำว่ามาตรการทางการแพทย์ที่จะนำมาใช้แก้ไขฟื้นฟูมีหลายวิธีขึ้นอยู่กับระดับอาการ ซึ่งเดิมกฎหมายระบุแค่โทษทางอาญาแต่ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว นอกจากโทษทางอาญาหากศาลเห็นว่าจำเป็นต้องได้รับการบำบัดระหว่างต้องโทษจำคุกก็จะกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการบำบัดฟื้นฟูด้วย ชัดเจนคือคำสั่งคำพิพากษาในคดีเหล่านี้จะเปลี่ยนไป อย่างไรก็ตาม แนวทางนี้จะต้องผ่านกระบวนการร้องขอโดยอัยการ ขณะที่เจ้าหน้าที่คุมประพฤติจะมีหน้าที่สืบเสาะข้อมูลนำเสนอศาลประกอบการพิจารณาว่าควรใช้มาตรการใดกับจำเลยรายดังกล่าว

อีกประเด็นสำคัญ การใช้มาตรการทางการแพทย์ต้องถามความสมัครใจ เพราะเกี่ยวข้องกับการรักษา แพทย์จำเป็นต้องได้รับการยินยอมซึ่งเป็นหลักการตามจรรยาบรรณ พร้อมย้ำเจตนาของร่าง พ.ร.บ.เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกทำร้าย จากผู้พ้นโทษทั้งที่ยังมีอาการป่วย.

ทีมข่าวอาชญากรรม รายงาน

[email protected]