วาทกรรมร้อนแรง!!! “แพงทั้งแผ่นดิน” เริ่มฉายภาพให้คนไทยได้เห็นชัดไม่ใช่แค่ “ความรู้สึก” แต่กำลังเกิดขึ้นจริง…ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการดำรงชีพหลัก ๆ ทั้งค่าไฟ ค่าก๊าซหุงต้ม ค่าน้ำมันดีเซล เกินต้านทุบเพดานราคาเดิม 30 บาทต่อลิตร ยิ่งส่งผลให้ผู้ผลิตผู้จำหน่ายสินค้าหลากหลายประเภท อ้างถึงต้นทุนการผลิตพุ่งเข้าคิวยาวขอปรับขึ้นราคาสินค้ายาวเหยียด กลุ่มที่ไม่ต้องขอกรมการค้าภายในหรือคนกระทรวงพาณิชย์ ไม่ต้องพูดถึง ดอดขึ้นไปแล้วล่วงหน้าโดยเฉพาะร้านอาหารต่าง ๆ ขณะที่รัฐเองได้แต่มองตาปริบ ๆ พ่นแต่คำสวยหรูแต่สุดท้ายคนไทยต้องเผชิญชะตากรรมเองแทบจะทั้งนั้น!!!

ไล่เรียงให้เห็นภาพชัด ๆ ตั้งแต่ 1 พ.ค.เป็นต้นมา คนไทยต้องเจออะไรบ้าง??? เริ่มตั้งแต่ ชะตากรรมแรกเริ่ม ตั้งแต่บิลค่าไฟเรียกเก็บงวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 65 เรียกเก็บ 4 บาทต่อหน่วย เพิ่มขึ้น 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และจะทยอยขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงต้นปีหน้า ด้วยเหตุวิกฤติพลังงานโลก จากผลกระทบจากเหตุสงครามรัสเซีย-ยูเครน ดันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าดีดขึ้นยกแผง ซึ่งการปรับขึ้นค่าไฟครั้งนี้ ทาง “สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน” หรือ กกพ. หน่วยงานดูแลค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ หรือค่าเอฟที ระบุว่า เป็นการปรับขึ้นแบบขั้นบันไดแล้ว เพื่อไม่ให้ประชาชน “ตกใจ” มาก

ไฟก๊าซน้ำมันแห่ขึ้น

ชะตากรรมที่สอง ค่าก๊าซหุงต้ม หรือก๊าซแอลพีจี ขึ้นในกรอบ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือน เม.ย. ไปแล้ว กิโลกรัมละ 1 บาท ถัง 15 กก. จาก 318 บาท ขยับเป็น 333 บาท เดือน พ.ค. ขยับขึ้นอีก 15 บาทต่อถัง 15 กก. เป็น 348 บาท และเดือน มิ.ย. ขยับขึ้นอีกเป็น 363 บาทต่อถัง ส่วนเดือนถัด ๆ ไป…ค่อยมาประเมินสถานการณ์อีกครั้ง!!!

ชะตากรรมที่สาม ที่หนักหนาไม่แพ้กัน ทุบกรอบเพดานราคาน้ำมันดีเซลจาก 30 บาทต่อลิตร ใช้มาตรการใหม่จ่ายคนละครึ่งระหว่างกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอีก 50% ให้ประชาชนช่วยจ่าย แม้จะให้จ่ายคนละครึ่งแล้ว แต่รัฐก็ยังกลัวประชาชน “ช็อก” อีกเช่นกัน จึงทยอยปรับราคาน้ำมันดีเซลจากปัจจุบันที่ต้องอุ้มราคาอยู่ที่ 9.57 บาทต่อลิตร ถ้าหารครึ่งจริง ประชาชนต้องควักจ่ายจาก 29.94 บาทต่อลิตร ขยับเป็น 35 บาทต่อลิตร มาเป็นค่อยขยับ ๆ ระลอกแรกขึ้น 2 บาทก่อน เป็น 32 บาทต่อลิตร แล้วค่อย ๆ ขยับต่อไป เบื้องต้นจะไม่ให้เกิน 35 บาทต่อลิตรก่อน ขณะเดียวกันยังได้ปรับลดการอุ้มราคาน้ำมันดีเซลเกรดพรีเมียม หรือที่เรียกกันติดปาก ดีเซลสำหรับรถหรู จะปรับลดการชดเชยลงสัปดาห์ละ 2 บาท ตั้งเป้าจัดเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ดีเซลพรีเมียม ลิตรละ 1 บาท

การปรับในครั้งนี้ยังได้ลดการชดเชยในกลุ่มน้ำมันเบนซิน อี 85 ที่ปัจจุบันอุ้มราคาถึงลิตรละ 3.53 บาทต่อลิตร ตามนโยบายเดิมช่วยเหลือเกษตรกร จะปรับลดการชดเชยจากกองทุนน้ำมันฯ ลงสัปดาห์ละ 1 บาท ตั้งเป้าหมายอุดหนุนเหลือแค่ 0.53 บาทต่อลิตร พูดให้เข้าใจง่าย ๆ คือ การปรับขึ้น 3 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันขายปลีก 31.04 บาทต่อลิตร เท่ากับว่าต่อไปขยับเป็นลิตรละ 34.04 บาทต่อลิตร

หมดเงินกองทุนฯอุ้ม

ประเด็นทั้งเรื่องน้ำมัน และก๊าซแอลพีจี ที่ต้องขยับราคา ด้วยเหตุปัจจัยหลักมาจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงปัจจุบันล่าสุดวันที่ 26 เม.ย. ติดลบหนักกว่า 56,278 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท และบัญชีก๊าซแอลพีจีติดลบกว่า 31,976 ล้านบาท และกองทุนน้ำมันฯ มีกระแสเงินสดเหลือเพียง 10,000 ล้านบาท ยังกู้รอบแรก 20,000 ล้านบาทไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่ละวันต้องใช้เงินอุดหนุนดีเซลลิตรละ 9.57 บาท รวมวันละ 634.93 ล้านบาท คำนวณจากยอดการใช้ 65 ล้านลิตร

แต่…มีเงินบัญชีน้ำมันไหลเข้าวันละ 28.56 ล้านบาท รวมเป็นเงินไหลออกที่ต้องหักจากบัญชีเป็นประมาณวันละ 606.37 ล้านบาท หากคิดเป็นเงินที่จะต้องอุดหนุนน้ำมันดีเซลรายเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 18,000 ล้านบาท และหากรวมเงินอุดหนุนก๊าซหุงต้ม กว่า 20,000 ล้านบาท คำนวณแล้วยังไงก็ไม่พอ ซ้ำร้ายตอนนี้ราคาพลังงานในตลาดโลก ยังผันผวนหนักตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน กระทรวงพลังงาน จึงต้องยอมหักทุบกรอบราคา ให้ประชาชนรับความเป็นจริงในบางส่วน เพราะถ้าปล่อยให้ประชาชนเสพติดของถูก ที่ไม่สะท้อนต้นทุนไปนาน ๆ จะยิ่งส่งผลร้ายต่อเงินในกองทุนฯ อย่างแน่นอน

เพราะฉะนั้นตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. จากเดิมที่กองทุนน้ำมันต้องจ่ายเงินอุดหนุนน้ำมันดีเซลเกือบ 10 บาทต่อลิตร เมื่อลดการอุดหนุนน้ำมันดีเซล รวมถึงดีเซลเกรดพรีเมียมแล้ว จะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เคยอุดหนุนลดลงประมาณ 7 บาทต่อลิตร หรือคิดเป็นเงินไหลออกวันละประมาณ 400 ล้านบาท หรือเดือนละ 14,000 ล้านบาท รวมถึงลดเงินอุดหนุนผู้ใช้ก๊าซแอลพีจี ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. ถังละ 15 บาท จากเดิมใช้เงินอุดหนุนเดือน เม.ย. ที่ 2,400 ล้านบาท พยุงราคาถังละ 333 บาท เหลือเดือน พ.ค. ปรับเป็นถังละ 348 บาท ใช้เงินอุดหนุน 2,130 ล้านบาท และเดือนมิ.ย. เป็นราคาถังละ 363 บาท ใช้เงินอุดหนุนเหลือ 1,850 ล้านบาท

เท่ากับว่า การลดเงินอุดหนุนทั้งดีเซลและแอลพีจี จะช่วยให้กองทุนน้ำมันฯ ลดภาระค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเดือนละ 400 ล้านบาท และหวังว่า ราคาน้ำมันตลาดโลกจะลดลง และหากกองทุนขยับราคาขึ้น ถึงคนละครึ่ง ก็จะช่วยลดค่าอุดหนุนได้อีกเช่นกัน

ค่าขนส่งขู่ขึ้นแน่ 20%

ชะตากรรมที่สี่ ผลพวงจากการปรับขึ้นน้ำมันดีเซล ทาง “สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย” เตรียมขึ้นค่าขนส่งสินค้าอีก 20% เพื่อความอยู่รอด หลังจากเรียกร้องให้ตรึงราคาดีเซล 25 บาทต่อลิตรมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา จนปัจจุบันขึ้นมาถึง 32 บาทต่อลิตรแล้ว เมื่อค่าขนส่งขึ้นแล้ว ผลกระทบจึงตกไปถึงต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการสินค้า บริการต่าง ๆ ด้วยเช่นกัน แม้ประเด็นนี้ภาครัฐ จะมองว่า ยังมีผู้ประกอบการรถบรรทุกอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่อยู่ในกลุ่มนี้ก็ตาม แต่ก็ทำให้ผู้ผลิตหลายราย นำไปใช้เป็น “ข้ออ้าง” ในการขอขึ้นราคาสินค้า

หันมาดูชะตากรรมสำคัญ ที่หลายคนกังวลว่า ผลกระทบจากราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้น อาจจะกระทบชิ่ง ต่อราคาสินค้าให้แพงขึ้นตาม แม้เรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์ เอาข้อมูลมายันแล้วว่า ผู้ผลิต ผู้ค้า ห้ามมั่วนิ่มอ้างดีเซลขึ้นราคาเด็ดขาด เพราะน้ำมันดีเซลเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนค่าขนส่งและต้นทุนผลิตสินค้าเท่านั้น ไม่ใช่ปัจจัยการผลิตทั้งหมด หากคิดน้ำมันมีผลต่อค่าขนส่งสูงสุดไม่ถึง 14% ขณะที่ผลกระทบจากน้ำมันดีเซลที่กระทบตรงต่อต้นทุนสินค้าโดยรวมก็มีผลไม่เยอะ ราคาน้ำมันดีเซลปรับเพิ่มขึ้นทุก ๆ 0.50 บาทต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0002%-0.08% กรณีปรับขึ้นทุก ๆ 1 บาท ต่อลิตร จะมีผลต่อต้นทุนสินค้า 0.0004%-0.15% เท่านั้น

พาณิชย์ขายฝันท่องไม่ให้ขึ้น

ที่สำคัญในปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ ยังมีนโยบายติดตามและขอตรึงราคาสินค้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะสินค้าใน 18 หมวด ที่รมว.พาณิชย์ ท่องให้ฟังจนจำขึ้นใจ อย่างอาหารสด บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง ซอสปรุงรส น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์จากนม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยาเวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้ามขึ้นราคาเด็ดขาด และไม่มีนโยบายให้ปรับขึ้น ยกเว้นสินค้าที่อั้นไม่อยู่จริง ๆ ก็จะพิจารณาปรับให้ตามต้นทุนที่แท้จริง เป็นกรณี ๆ ไป

ดังนั้น การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซล ที่จะเริ่มตั้งแต่ 1 .. กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่ายังไม่มีการอนุญาตให้สินค้ารายการใดขึ้นราคา และหากพบจำหน่ายสินค้าราคาแพงเกินควร ก็สามารถร้องเรียนมาที่สายด่วน 1569 ได้ ซึ่งกรมฯจะมีการส่งเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบ หากพบมีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าแพงเกินสมควร กักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่าย ต้องโทษจำคุก 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จุกอกบะหมี่ขอขึ้นราคา

ส่วนเรื่องของราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป นั้นก็ยืนยันชัดเจนว่ายังไม่ได้อนุญาตให้ขึ้นราคา ซึ่งเป็นการขอปรับส่วนลดการขาย ระหว่างผู้ผลิตกับผู้ค้าส่งรายใหญ่เท่านั้น โดยผู้ผลิตได้ขอปรับส่วนลดการขายกับร้านค้าส่งลังละ 15 บาท หรือตกเฉลี่ยซองละ 8 สตางค์ ที่สำคัญจากการสอบถามร้านค้าส่ง ก็ยังไม่มีการขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกับร้านค้าปลีก และร้านค้าปลีกก็ยังขายในราคาเท่าเดิมที่ซองละ 6 บาทแต่ที่น่าห่วงจะเอาไม่อยู่ก็คือสินค้าที่มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากวัตถุดิบ ที่ไม่ใช่ผลกระทบจากราคาน้ำมัน เช่น ปุ๋ยเคมี ซึ่งมีราคาแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วกว่า 100-200% ดังนั้นในช่วงฤดูกาลเพาะปลูกใหม่ที่มาถึงนี้ จะเห็นราคาปุ๋ยเคมีทยอยปรับแบบขั้นบันไดอีกไม่ต่ำกว่า 20% รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ต่าง ๆ ที่ทุกวันนี้พาเหรดปรับขึ้นไม่หยุดฉุดไม่อยู่

ไข่หมูราคาพุ่งต่อ

เริ่มจากไข่ไก่ที่ขึ้นมาเฉลี่ยฟองละ 3.50 บาท โดยไข่เบอร์ 0 ทะยานไปถึง 4.20 บาท เช่นเดียวกับเนื้อหมูก็ราคาขยับเพิ่มต่อเนื่อง โดยแนวโน้มราคาจำหน่ายเนื้อสุกร ชำแหละเนื้อแดง มีการปรับขึ้นราคาจากช่วงเทศกาลสงกรานต์อีก กก.ละ 5 บาท ราคาเนื้อสันนอกแตะ 190-200 บาทต่อ กก. เนื้อแดง สะโพก เป็น 180-190 บาทต่อ กก. และสามชั้นปรับเป็น 210–230 บาท รวมทั้งน้ำมันปาล์มขวด เชื่อหรือไม่ว่าราคาปาล์มขวดขึ้นมาเกิน 60 บาทนานแล้วตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว และราคาก็ไม่เคยลงเลย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ช่วงต้นปีเป็นนอกฤดูกาลผลิต กระทรวงพาณิชย์บอกว่าขอให้คนไทยกินน้ำมันปาล์มแพงหน่อยเพื่อช่วยเกษตรกร และคาดว่าเดือน มี.ค.-เม.ย. เมื่อผลปาล์มฤดูใหม่ออกมาเยอะ ราคาจะถูกลง

แก้ปัญหาแต่แบบเดิม ๆ

ส่วนมาตรการดูแลผู้บริโภค คนละครึ่งไม่ต้องหวัง เฟส 4 จบเพียงแค่นี้ 30 เม.ย. เฟส 5 ลุ้นไม่ขึ้นว่าจะทำต่อเพราะคลังบอกแล้วเงินมีจำกัด ดังนั้น ต้องพึ่งมาตรการช่วยลดภาระค่าครองชีพของกระทรวงพาณิชย์ โดยจัดทำโครงการ Mobile พาณิชย์ลดราคา! ช่วยประชาชน จำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพราคาถูกกว่าท้องตลาด ลดสูงสุด 60% โดยส่งรถโมบายกระจายทั่ว 50 เขต

เห็นชะตากรรมชัดเจนทั้งสถานการณ์ทิศทางราคาพลังงานโลก ที่เป็นส่วนสำคัญทำให้ราคาผันผวนขาขึ้นหนักขนาดนี้ ประกอบกับฝีมือในการจัดการสถานการณ์ของรัฐบาลแบบนี้ ต้องยกคำ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ออกปากไว้ สภาพตอนนี้ขอให้ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ทุกคนต้องช่วยกันประหยัด ใช้พลังงานอย่างรู้คุณค่า น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด!!!.