เมื่อวันที่ 11 พ.ค. นางถวิลวดี บุรีกุล ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า เปิดผลสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของประชาชนต่อการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร 2565 สอบถามกลุ่มตัวอย่าง 1,038 คนแบ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 702 คน โดยเป็นผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกถึง 79.8% และเป็นผู้ที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง 336 คน

ในประเด็นความเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.และ ส.ก. 2565 พบว่า ประชาชนไม่ทราบจำนวนบัตรเลือกตั้งกี่ใบ ร้อยละ 30.1, ไม่ทราบระยะเวลาในการลงคะแนนเสียง ร้อยละ 51.3, ไม่ทราบบทบาทหน้าที่ของผู้ว่าฯ กทม. ร้อยละ 36.2, ไม่ทราบบทบาท ส.ก. ร้อยละ 35.5 และไม่ทราบจำนวนของ ส.ก. ร้อยละ 58

สำหรับผลการสำรวจการตัดสินใจในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งพบว่าประชาชนเลือก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร้อยละ 42.4 รองลงมาคือนายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ร้อยละ 12, พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ร้อยละ 6.7, นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ร้อยละ 5.7, นายสกลธี ภัททิยะกุล ร้อยละ 5.7, น.ส.รสนา โตสิตระกูล ร้อยละ 2.7, นายโฆสิต สุวินิจจิต ร้อยละ 2.3, ยังไม่ได้ตัดสินใจ ร้อยละ 18.2 และไม่ประสงค์ลงคะแนน ร้อยละ 2

นางถวิลวดี กล่าวอีกว่า ปัจจัยในการเลือกผู้ว่าฯ กทม. อันดับหนึ่งคือนโยบายของผู้สมัคร ร้อยละ 62.3, รองลงมาคือประสบการณ์การทำงานของผู้สมัคร ร้อยละ 48.9 และการพูดจริงทำจริง จริงใจใสการแก้ไขปัญหา ร้อยละ 29.9

สำหรับประเด็นที่ประชาชนอยากให้ผู้ว่าฯ กทม.ดำเนินการอันดับหนึ่งคือ การขนส่งสาธารณะและการจราจร ร้อยละ 66.4, การจัดการสิ่งแวดล้อม ความสะอาด และพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 64.2, ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ร้อยละ 52.5, ปัญหาน้ำท่วมขัง ร้อยละ 45.4 และระบบสาธารณสุข และสุขอนามัย ร้อยละ 41.7

ในส่วนของความเชื่อมั่นในการเลือกตั้ง พบว่า ส่วนใหญ่ระบุว่าเชื่อว่าจะมีการซื้อเสียงเลือกตั้ง คิดเป็น ร้อยละ 71.9, รองลงมาคือ เชื่อว่า กกต.จะสามารถจัดการเลือกตั้งได้อย่างสุจริต โปร่งใส และเที่ยงธรรม ร้อยละ 49.1

นอกจากนี้ผลสำรวจความตระหนัก ความสนใจ และความตั้งใจที่จะไปเลือกตั้งพบว่า ไปเลือกตั้งแน่นอน ร้อยละ 93.6 รองลงมาคือระบุชื่อผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ได้อย่างน้อย 5 คน ร้อยละ 82.5 และทราบว่าคูหาเลือกตั้งอยู่ที่ใด ร้อยละ 85.2 เป็นต้น

นายสติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนา สถาบันพระปกเกล้า ชี้แจงสาเหตุที่ผลการสำรวจในครั้งนี้ นำความคิดเห็นของประชากรที่ไม่มีสิทธิเลือกตั้งเข้ามาด้วย เพราะมีประโยชน์กับผู้สมัครหรือผู้ที่มีโอกาสที่จะเข้ามาเป็นผู้ว่าฯ กทม.นำข้อมูลไปใช้.