ปี 2565 ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged society) โดยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ ซึ่งเมื่อผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้นและอายุยืนยาวขึ้นจึงกลายเป็นโจทย์ใหญ่ท้าทายระบบการแพทย์และสาธารณสุขของไทย

นายประพันธ์ อัศวพลังพรหม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ติงส์ ออน เน็ต จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ มุ่งมั่นในการเป็นแกนหลักพัฒนาและขับเคลื่อนทุกภาคส่วนของประเทศไทยมาโดยตลอด โดยครั้งนี้ได้ร่วมมือกับเขตสุขภาพที่ 4 เพื่อพัฒนาโซลูชั่น Smart Healthcare สำหรับตรวจจับการหกล้มของผู้สูงอายุ ตลอดจนเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการการแพทย์ฉุกเฉินแบบไร้รอยต่อ เพื่อเป็นการยกระดับระบบการดูแลผู้สูงอายุ และเตรียมความพร้อมในการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้สูงวัยในทุกมิติ อีกทั้งเป็นการเพิ่มศักยภาพด้านการให้บริการคนไข้ และลดภาระของสถานบริการทุกระดับในเขตสุขภาพที่ 4

“ผู้สูงอายุที่มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเนื่องด้วยความเสื่อมชราภาพ (ageing) จะพบว่าการหกล้มเป็นปัญหาที่พบบ่อยและอันตรายมากกว่าคนวัยอื่น โดยแต่ละปี 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุมักลื่นล้ม และครึ่งหนึ่งลื่นล้มมากกว่า 1 ครั้งต่อปี ผู้สูงอายุที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงต่อการหกล้มร้อยละ 28-35 และแปรผันตามอายุที่มากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งร่างกาย ตั้งแต่ระดับบาดเจ็บเล็กน้อย ได้แก่ บาดแผลฟกช้ำ เจ็บปวด ไปถึงระดับรุนแรงอย่าง กระดูกหัก เลือดออกในสมอง หรือเสียชีวิต ในขณะที่ผลกระทบด้านจิตใจ จะทำให้ผู้สูงวัยขาดความมั่นใจในการเดิน กลัวการหกล้ม จนอาจเกิดภาวะซึมเศร้า

หากผู้สูงอายุมีภาวะกระดูกหักจะส่งผลกระทบในระยะยาว ได้แก่ กลัวการเดิน เดินไม่ได้ มีความพิการ ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอนติดเตียง จากสถิติพบว่า ร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่หกล้มแล้วกระดูกสะโพกหักจะมีโอกาสเสียชีวิตได้ภายในระยะเว ลา 1 ปี” นายแพทย์พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ได้กล่าวในการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการเฝ้าระวังและป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ

เขตสุขภาพที่ 4 เป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุจำนวนมากในหลายจังหวัด ผู้บริหารเขตสุขภาพที่ 4 นำโดยนายแพทย์สมยศ ศรีจารนัย ผู้อำนวยการสำนักงานเขตสุขภาพที่ 4 นายแพทย์อนันต์ กมลเนตร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสระบุรี ประธานคณะกรรมการปฏิรูปเขตสุขภาพด้านเทคโนโลยีสุขภาพ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และทีมแพทย์ผู้เกี่ยวข้อง ได้เล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในยุค Digital Transformation จึงได้มีการพัฒนานวัตกรรมโซลูชั่นมาช่วยตรวจจับการหกล้มในผู้สูงอายุ จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของวงการแพทย์ไทยในการนำเทคโนโลยีสุขภาพ สมัยใหม่มาบูรณาการร่วมกับการออกแบบบริการการแพทย์ฉุกเฉิน ที่มุ่งเน้นคุณภาพ ปลอดภัย และทันเวลา ส่งผลต่อการช่วยลดอัตราการเจ็บป่วย พิการ และเสียชีวิตของผู้สูงวัย

นวัตกรรมเทคโนโลยีโซลูชั่นไอโอที จะช่วยบริหารจัดการแบบบูรณาการด้านการแพทย์ในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ IoT Falling Detection ติดตามการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ที่ทำหน้าที่ส่งต่อข้อมูลผ่านเครือข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตและเชื่อมโยงถึงกันโดยไม่ต้องป้อนข้อมูล ทำให้ศูนย์สั่งการฉุกเฉินปลายทางสามารถทราบข้อมูลรวมถึงพิกัดที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่และสามารถสั่งการระบบการแพทย์ฉุกเฉินได้ทันที เพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้สูงอายุ..