เริ่มมีผลบังคับใช้แล้ววันนี้ (1 มิ.ย.65) พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 หรือ ก.ม.พีดีพีเอ ซึ่งยังมีหลายฝ่ายที่ยังสับสนว่า “อะไรทำได้-ทำไม่ได้” เกี่ยวกับ ก.ม.ฉบับนี้

โดยเฉพาะเรื่องที่หลายๆ คนนิยมในยุคดิจิทัล คือการถ่ายรูป หรือจะเซลฟี่โพสต์ลงสื่อโซเชียล ที่หลายฝ่ายสงสัยว่า ถ้าถ่ายแล้วเผอิญติดรูปคนอื่นมาด้วยจะมีความผิดมั้ย?

ในเรื่องนี้ทาง นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ชี้แจงข้อสงสัยหากถ่ายภาพเซลฟี่ แล้วติดคนอื่นๆ คนที่ถูกถ่ายติดไปสามารถฟ้องคนถ่ายได้หรือไม่ ว่า ถ้าเจตนาของผู้ถ่ายเป็นเซลฟี่ ถึงจะติดภาพคนอื่นมา แต่ไม่มีเจตนาถ่ายภาพคนนั้น ไม่ได้แอบถ่าย สามารถทำได้ อย่างไรก็ดี ถ้าเจ้าของภาพต้องการใช้สิทธิสามารถขอให้ลบได้ กฎหมายไม่ได้บอกว่าผิดชัดเจน อาจใช้วิธีการเบลอ

ไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ 

ส่วนงานวรรณกรรม กฎหมายไม่ได้ห้ามงานวรรณกรรม การเขียนถึงใครคนหนึ่ง กฎหมายให้การยินยอม ถ้างานเขียนนั้นไม่ได้เป็นการละเมิด ทำให้ผู้อื่นเสียหาย และไม่ใช้ในการแสวงหากำไร กรณีสื่อมวลชน มีประมวลจริยธรรมคุ้มครองอยู่ สื่อมวลชนย่อมทราบดีว่าจะถ่ายภาพหรือเขียนอย่างไรให้เป็นไปตามจริยธรรมและไม่ไปละเมิดผู้อื่น สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องระวังคือการไลฟ์สดบนสื่อโซเชียลกฎหมายไม่ให้การคุ้มครอง

เช่นเดียวกันกับทาง นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจเเละสังคม (ดีอีเอส) ที่ออกมาสยบดราม่าในเรื่องนี้ ว่า ข้อกังวลเกี่ยวกับกฎหมาย เรื่องถ่ายภาพนั้น การที่เราไปถ่ายภาพแล้วไปติดบุคคลอื่น ที่เราไม่รู้จัก เข้ามาในภาพโดยบังเอิญ ไม่มีความผิด ตาม ก.ม.พีดีพีเอ แม้ว่าจะเอาภาพนั้นไปโพสต์ไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ถ้าไม่ได้ไปทำให้บุคคลนั้นเสียหาย หรือเกิดความเสื่อมเสีย รวมถึงเรื่องกล้องวงจรปิดที่ติดไว้ที่บ้าน แล้วไปติดภาพของคน ที่เดินผ่านไปผ่านมา ถ้าไม่ได้เอาไปใช้ประโยชน์ในทางที่มิชอบ เป็นข้อมูลที่เก็บไว้เพื่อป้องกันอาชญากรรมก็ไม่มีความผิด

นอกจากนี้ รมว.ดีอีเอส ยังยืนยันว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล เป็นกฎหมายที่คุ้มครองสิทธิข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชนไม่ใช่กฎหมายที่มุ่งจะไปเอาผิดหรือลงโทษใคร ดังนั้นไม่ต้องวิตกกังวล และหากเกิดกรณี ถ้าข้อมูลของเรามีการรั่วไหล มีการนำไปใช้ที่ไม่ถูกต้อง ก็สามารถร้องเรียนได้ตามกฎหมาย เพื่อเอาผิดกับ คนที่เอาข้อมูลไปใช้ได้ ซึ่งทำให้ข้อมูลส่วนตัวได้รับความคุ้มครอง เป็นประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนทุกคน

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (สคส.) นั้น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ไม่ใช่บังคับกับกรณี ดังต่อไปนี้

 1. การเก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อประโยชน์ส่วนตนหรือเพื่อกิจกรรมในครอบครัว

2. การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการรักษาความมั่นคงของรัฐ

3. การใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่ทำการเก็บรวบรวมไว้เฉพาะเพื่อกิจการสื่อมวลชน งานศิลปกรรม หรืองานวรรณกรรม

4. การเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลตามหน้าที่และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา หรือคณะกรรมาธิการ

5. การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลและการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการพิจารณาคดี

และ 6. การดำเนินการกับข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตและสมาชิกตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต