ที่สำนักการระบายน้ำ เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. เวลา 10.00 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. สำนักการระบายน้ำ (สนน.) ร่วมหารือกับนายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ถึงแนวทางการดำเนินงานล้างทำความสะอาดท่อระบายน้ำให้กับ กทม. โดยนำผู้ต้องขังออกมาช่วยงานลอกท่อ ทำความสะอาด เปิดเส้นทางระบายน้ำจากท่อลงสู่คลอง

สำหรับการหารือในวันนี้ ได้ข้อสรุปคือ กทม.จะเริ่มจ้างกรมราชทัณฑ์ ในการลอกท่อระบายน้ำโดยนักโทษชั้นเยี่ยมเป็นผู้ดำเนินการ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยการจ้างแรงงานนักโทษดังกล่าว ผ่านกระบวนการระหว่างรัฐ ตามกฏกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องส่งเสริมหรือสนับสนุน ปี 63 โดยไม่ต้องเข้ากระบวนการ e-bidding ซึ่งก่อนหน้านี้ที่ กทม.ไม่สามารถจ้างกรมราชทัณฑ์ได้ เนื่องจากมีเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฯ พ.ศ. 2560

อย่างไรก็ตาม ในการให้นักโทษลอกท่อ จะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ความสมัครใจของนักโทษ รวมถึงค่าแรงอุปกรณ์ในการป้องกัน และสวัสดิการที่ต่างๆ ด้วย

ทั้งนี้พื้นที่กรุงเทพฯ มีท่อระบายน้ำความยาวรวม กว่า 6,500 กม. ในส่วนนี้อยู่ในความรับผิดชอบของ สนน. กว่า 2,000 กม. และอยู่ในความดูแลของสำนักงานเขตอีกกว่า 4,500 กม. ซึ่งงบประมาณปี 65 ตั้งไว้ 15,000,000 บาท จะสามารถดำเนินการได้เพียง 500 กม. ภายในเวลา 4 เดือน เบื้องต้นผู้ว่าฯ กทม. ตั้งเป้าดำเนินการให้ได้ก่อน 100 กม. ทันที โดยได้สั่งการให้สำนักงานเขตสำรวจพื้นที่น้ำท่วมซ้ำซาก เพื่อเริ่มดำเนินการในจุดนั้นก่อน

ทางด้าน นายอายุตม์ กล่าวว่า การนำนักโทษชั้นเยี่ยมออกมาปฏิบัติงานบริการสาธารณะถือเป็นนโนบายที่กรมราชทัณฑ์ดำเนินการมาโดยตลอด และให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยนักโทษที่มาทำงานส่วนนี้จะมาตามความสมัครใจ ไม่มีการบังคับ ซึ่งกรมราชทัณฑ์จะมีอาหาร เครื่องดื่ม เป็นสวัสดิการไว้รองรับ รวมถึงสวัสดิการในการดูแลหากได้รับบาดเจ็บจากการทำงาน และกำไรที่ได้จากการจ้างงาน 70% จะยกให้กับนักโทษ เพื่อเก็บไว้เป็นทุนภายหลังพ้นโทษกลับคืนสู่สังคม ทั้งนี้ได้มีการเตรียมความพร้อมนักโทษชั้นเยี่ยมสำหรับออกมาขุดลอกท่อ จำนวน 1,000 คน จาก 10 เรือนจำ โดยทุกคนต้องได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบโด๊ส และก่อนเข้าออกเรือนจำ ต้องตรวจ ATK ระหว่างปฏิบัติหน้าที่ห้ามพบปะญาติที่มาเยี่ยม หรือออกไปเดินในตลาดพื้นที่สาธารณะ นอกพื้นที่งาน

เมื่อถามว่าในอนาคต กทม.จะจ้างกรมราชทัณฑ์ ในการลอกท่อ 100% หรือไม่ หรือจะจ้างร่วมกับเอกชน นายชัชชาติ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการพิจารณาตามลำดับความเหมาะสม รวมถึงคุณภาพการทำงาน ก่อนหน้านี้มีประชาชนร้องเรียนเข้ามาว่า เอกชนลอกท่อไม่สะอาด แต่นักโทษจากกรมราชทัณฑ์สามารถลอกท่อได้อย่างมีคุณภาพ สำหรับการตรวจประเมินคุณภาพ ประสิทธิภาพการลอกท่อ จะมีเจ้าหน้าที่ใช้เครื่องมือวัดตะกอนหรือปริมาณดินที่เหลืออยู่ในท่อตามเกณฑ์ที่กำหนด