สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานจากเมืองเซาเปาลู เมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ว่า การทดสอบข้าวสาลีดัดแปลงพันธุกรรม คือ สัญญาณล่าสุดของการเพิ่มความสนใจจากทั่วโลก ในการปลูกข้าวสาลีที่สามารถทนต่อความแห้งแล้งได้ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพิ่มความเสี่ยงให้กับภาวะอดอยากทั่วโลก

เจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานวิจัยพืชผลของรัฐ เอ็มบราปา กล่าวว่า ได้ร่วมมือกับบริษัท ไบโอเซเรส ของอาร์เจนตินา ซึ่งพัฒนาข้าวสาลีจีเอ็มโอที่สามารถเจริญเติบโตในสภาพอากาศที่แห้งได้

เอ็มบราปา ได้รับการอนุมัติกฎระเบียบจาก ซีทีเอ็นไบโอ หน่วยงานความมั่นคงทางชีวภาพของบราซิล เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งการทดสอบการปลูกเกิดขึ้นหลังจากการปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเริ่มต้น โดยทำการปลูกข้าวสาลีในพื้นที่ทดสอบใกล้กรุงบราซิเลีย ที่เกษตรกรปลูกถั่วเหลืองและข้าวโพดกันตามธรรมเนียม นายจอร์จ ลีมันสกี หัวหน้าฝ่ายวิจัยข้าวสาลีของเอ็มบราปา กล่าวในการสัมภาษณ์

แม้ผู้บริโภคจำนวนมากจะเคยคัดค้านการใช้เทคโนโลยีดัดแปลงพันธุกรรมในข้าวสาลี เนื่องจากกังวลเรื่องความเสี่ยงด้านสุขภาพ แต่ผลสำรวจเมื่อไม่นานมานี้แสดงให้เห็นว่า ผู้บริโภคในบราซิลมากกว่า 70% พร้อมบริโภคข้าวสาลีจีเอ็มโอ

ทั้งนี้ รัฐบาลบราซิลของประธานาธิบดีฌาอีร์ โบลโซนารู ต้องการลดความพึ่งพาการนำเข้าข้าวสาลีจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างอาร์เจนตินา และเพิ่มการส่งออกข้าวสาลีของบราซิลอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ลีมันสกี กล่าวเพิ่มเติมว่า การปลูกข้าวสาลีดัดแปลงพันธุกรรมเชิงพาณิชย์ใด ๆ อาจต้องใช้เวลาราว 4 ปี เพื่อรอผลการทดสอบและการอนุมัติกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เสร็จสิ้น.

เครดิตภาพ : REUTERS