บัญชีผู้ใช้งานทวิตเตอร์ชื่อ ‘Perseveramce Mars Rover’ ซึ่งเป็นบัญชีอย่างเป็นทางการของยานสำรวจดาวอังคาร ‘Perseverance’ ในความดูแลขององค์การนาซา (NASA) โพสต์ภาพเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า หน่วยงานได้พบเศษวัสดุที่มนุษย์เป็นผู้ทิ้งไว้บนดาวอังคาร หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็น ‘ขยะ’ ที่ตกค้างอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์สีแดง 

ข้อความกำกับรูปภาพดังกล่าวอธิบายว่า ทีมงานได้พบสิ่งที่ไม่คาดฝัน เป็นเศษชิ้นส่วนของแผ่นหุ้มเพื่อรักษาอุณหภูมิของยาน ซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะหลุดออกมาตอนที่ยานสำรวจ Perseverance ลงจอดเมื่อเดือน ก.พ. ปี 2564

หน้าที่หลักของยานสำรวจ Perseverance คือการค้นหาสิ่งมีชีวิตหรือหลักฐานของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร แต่ดูเหมือนว่าตอนนี้จะค้นพบหลักฐานของสิ่งมีชีวิตนอกดาวอังคารแทน

ทีมงานกล่าวว่า เหตุการณ์ค้นพบเศษชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ เพราะจุดที่ยานสำรวจลงจอดนั้น อยู่ห่างจากจุดที่พบเศษชิ้นส่วนถึง 2 กม. จึงเกิดปริศนาว่า ชิ้นส่วนแผ่นหุ้มไปอยู่ตรงจุดที่พบตั้งแต่แรก หรือมีลมบนดาวอังคารพัดจนปลิวไปติดอยู่ตรงบริเวณนั้น

เศษของแผ่นหุ้มเพื่อรักษาอุณหภูมิของยานสำรวจ ไม่ใช่ ‘ขยะ’ เพียงชิ้นเดียวที่ยาน Preseverance ทิ้งไว้บนดาวอังคาร เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา หุ่นยนต์เฮลิคอปเตอร์ Ingenuity ก็ถ่ายภาพชิ้นส่วนโลหะและวัสดุอื่นที่ถูกทิ้งไว้หลังจากที่ยาน Perseverance ลงจอดไว้ได้ โดยเป็นส่วนของร่มชูชีพที่ช่วยในการลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร

‘ขยะ’ บนดาวอังคารเป็นเพียงเศษเสี้ยวของปัญหาที่กำลังขยายใหญ่ เมื่อมนุษย์ออกสำรวจอวกาศ เราก็ทิ้ง ‘ขยะ’ มากมายไว้เบื้องหลัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชิ้นส่วนจากชุดขับเคลื่อนและช่วยลงจอดของยานอวกาศต่าง ๆ 

ปัจจุบัน ระบบตรวจจับของเครือข่ายเฝ้าระวังอวกาศของสหรัฐ ตรวจพบร่องรอยของ ‘ขยะอวกาศ’ ซึ่งล่องลอยอยู่ในวงโคจรของโลกเป็นจำนวนมากถึง 27,000 ชิ้น และในความเป็นจริง ยังมีขยะจำนวนมากที่ตรวจไม่พบ เนื่องจากมีขนาดเล็กเกินไป 

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ ขยะที่เล็กเกินตรวจจับได้เหล่านี้บางชิ้น มีขนาดใหญ่พอที่จะเป็นอันตรายต่อยานอวกาศและภารกิจอวกาศต่าง ๆ ในอนาคต เนื่องจากยานอวกาศจะเดินทางด้วยความเร็วสูง ส่วนขยะอวกาศเหล่านี้ก็ล่องลอยอยู่ในอวกาศด้วยความเร็วสูงเช่นกัน (ราว 25,266 กม./ชม. ในวงโคจรต่ำของโลก) ดังนั้น หากเกิดการชนหรือกระทบกระแทกกันขึ้นมา อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใหญ่หลวงได้

แหล่งข่าว : ecowatch.com

เครดิตภาพ : twitter/NASAPersevere