เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. ที่โรงแรมริชมอนด์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงความคืบหน้า การประกาศโควิดเป็นโรคประจำถิ่นว่า การเป็นโรคประจำถิ่นนั้น ทางองค์การอนามัยโลกจะเป็นผู้ประกาศ แต่ประเทศไทยจะใช้คำว่าระยะหลังการระบาดใหญ่ (Post-Pandemic) คือการระบาดลดความรุนแรงลง ระบบสาธารณสุขรองรับได้ ซึ่งหลังวันที่ 1 ก.ค.ไปแล้ว อาจพบการคิดเชื้อเป็นเวฟเล็กๆ ได้ แต่ไม่กระทบระบบสาธารณสุข อย่างไรก็ตาม ยังต้องมีการรณรงค์วัคซีนต่อเนื่อง โดย 4 เดือนให้มาฉีดซ้ำ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 นอกจากนี้ ยังพบว่าทาง อย.สหรัฐอเมริกา (USFDA) ได้อนุมัติฉีดวัคซีนโควิด-19 ในเด็กเล็กอายุ 6 เดือนขึ้นไปนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข ก็เตรียมพิจารณาให้มีการฉีดวัคซีนเช่นกัน แต่ต้องรอบริษัทผู้ผลิตวัคซีน ยื่นขอขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หลังจากนั้นก็สามารถดำเนินการได้ทันที

ส่วนเรื่องความกังวลโอมิครอน สายพันธุ์ BA.4. และ BA.5 นั้น ข้อมูลในต่างประเทศ พบว่า ในสหรัฐอเมริกา และอังกฤษ มีการแพร่เร็วกว่าเดิม 1.3-1.4 เท่า แต่ในนอร์เวย์กลับมีอัตราการแพร่น้อยกว่า ดังนั้น ปัจจัยของการแพร่เชื้อที่เร็วขึ้น จึงอาจไม่ใช่เรื่องของเชื้อไวรัสที่พัฒนาเพียงอย่างเดียว อาจมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ในไทยมีการเฝ้าระวังมาอย่างต่อเนื่องพบตั้งแต่เดือน เม.ย. ในกลุ่มนักเดินทางชาวต่างชาติ ซึ่งเก็บตัวอย่างตรวจสายพันธุ์พบเป็น BA.4 ถึง 40-50% จึงต้องติดตามต่อไป

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวว่า ขณะนี้มียังไม่มีบริษัทผู้ผลิตวัคซีนสำหรับเด็กเล็ก ทั้งไฟเซอร์ และโมเดอร์นา มายื่นขอขึ้นทะเบียน เพราะเพิ่งผ่านการอนุมัติจาก อย.สหรัฐ ไม่นาน อย่างไรก็ตาม สำหรับสูตรการฉีดวัคซีนในเด็กเล็กนี้ จะต้องมีขนาดแตกต่างกว่าเด็กวัยเรียน ประมาณ 0.3 ไมโครกรัมต่อโด๊ส.