ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. หารือกับสภาองค์กรของผู้บริโภค (TCC) โดยมี น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร กทม. และผู้บริโภค ร่วมหาหารือ

น.ส.สารี กล่าวว่า สภาฯ ได้รับฟังปัญหาของผู้บริโภค ที่มีความยากลำบากในการใช้บริการรถไฟฟ้า โดยเฉพาะเรื่องค่าโดยสารที่มีราคาแพง จึงมีข้อเสนอผู้ว่าฯ กทม. 6 ข้อดังนี้ 1.ยกเลิก Hot Fix การเก็บค่าโดยสาร 59 บาทตลอดสายทันที 2.ใช้ราคาสูงสุดที่ใกล้เคียงกับสายอื่นๆ ที่ 44 บาท ตามสิทธิสัญญาสัมปทานของ BTSC เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคและเอกชน เช่น บีทีเอสที่เดินรถอยู่ด้วย และเพื่อเป็นต้นแบบให้รถไฟฟ้าสายอื่นๆ

3.ดำเนินการเอาตั๋วเดือนกลับคืนมา 4.เปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถที่เกินเลยสัญญาสัมปทานถึงปี 2585 5.แก้ไขสัญญาจ้างเดินรถสิ้นสุดพร้อมกันปี 2572 หลังหมดสัญญาปี 2572 ขอให้ลดค่าโดยสารให้เหลือ 25 บาท และ 6.เปิดเผยร่างสัญญาสัมปทานของ กทม. ที่กำหนดราคา 65 บาทของ กทม.

นอกจากนี้สนับสนุนให้ กทม.ไม่ต่อสัญญาสัมปทานเดินรถไฟฟ้า และใช้วิธีการประมูลจ้างเดินรถ หรือทำสัญญาให้เอกชนร่วมลงทุน PPP โดยแยกเป็น 2 สัญญา คือสัญญาให้บริการ และสัญญาหาประโยชน์

ทางนายชัชชาติ กล่าวว่า ค่าโดยสาร 59 บาท เป็นการแก้ปัญหาในระยะสั้น ซึ่ง กทม.จะต้องจัดเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายทุกวัน และผู้บริโภคกลุ่มอื่นที่ไม่ได้ใช้บริการรถไฟฟ้าต้องมารับภาระไปด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม ดังนั้นจะต้องไปคำนวณว่า หากจัดเก็บในราคา 59 บาท หรือ 44 บาท กทม.จะต้องสนับสนุนเท่าไหร่ รวมทั้งนำราคาค่าโดยสารทั้ง 2 ราคา ไปเปรียบเทียบกับราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายอื่นๆ เพื่อชี้แจงต่อสภา กทม.

ส่วนเรื่องตั๋วเดือนและตั๋วนักเรียน คงต้องไปเจรจากับบีทีเอสต่อไป ขณะเดียวกัน กทม.อยู่ระหว่างพิจารณาสัญญาจ้างเดินรถว่า มีสิทธิสามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้หรือไม่ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เนื่องจากในสัญญากำหนดว่าห้ามเปิดเผย

ทั้งนี้ การจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งในส่วนที่ให้สัมปทานเส้นทางหลัก หรือไข่แดง สิ้นสุดสัญญาปี 72 และสัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายระยะแรก สิ้นสุดสัญญาปี 85 มีการลงนามสัญญาไปนานแล้ว และมีค่าใช้จ่ายประมาณปีละหมื่นกว่าล้าน ซึ่งสัญญาดังกล่าวเป็นกรอบที่ค้ำคอเราอยู่ ทำให้ขยับตัวได้ยาก แต่จะพิจารณาว่าจะทำอย่างไรให้สัญญาไม่ต้องถึงปี 85 สิ้นสุดแค่พร้อมกันในปี 72 ได้หรือไม่ เพื่อให้นำทั้งระบบมาเปิดประมูลแข่งขันราคาให้ได้ราคาที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตามตนจะรับข้อเสนอดังกล่าว โดยในสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมหารือร่วมกับ นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เพื่อหาข้อสรุป ส่วนหนี้ที่เดินรถจนถึงปัจจุบัน จะต้องพิจารณาค่าโดยสารให้รอบคอบก่อน รวมถึงพิจารณาว่าหนี้เป็นหนี้ที่มาอย่างถูกต้องหรือไม่ และดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ส่วนการหาเงินมาจ่ายหนี้อาจจะหาแหล่งเงินกู้ แต่เท่าที่ทราบ เอกชนจะมีดอกเบี้ยสูงกว่าภาครัฐ ดังนั้นจึงต้องคิดอย่างรอบคอบ และให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังการแถลงข่าว นายวรัญชัย โชคชนะ อดีตผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ส่งมอบป้ายกระดาษเขียนข้อความระบุว่า ขอให้ยกเลิกประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยนายชัชชาติ กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่หากมีโอกาสจะลองพูดดู