จากการสำรวจเมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี พบว่า อันดับ 1 ร้อยละ 25.28 ระบุว่าเป็น น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร และเป็นบุตรสาวของ ทักษิณ ชินวัตร  อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้ อันดับ 3 ร้อยละ 13.24 ระบุว่าเป็น นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 11.68 ระบุว่าเป็น “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะเป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายสามารถช่วยเหลือประชาชนได้จริง และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง และอันดับ 5 ร้อยละ 6.80 ระบุว่าเป็น คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ (พรรคไทยสร้างไทย) เพราะชื่นชอบผลงานในอดีต มีประสบการณ์ด้านการบริหาร ซื่อสัตย์สุจริต ขณะที่บางส่วนระบุว่า ต้องการเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามาบริหารประเทศ

ขณะที่ในส่วนของพรรคการเมือง พบว่า พรรคการเมืองที่ประชาชนจะสนับสนุน อันดับ 1 ร้อยละ 36.36 พรรคเพื่อไทย อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 “ไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดเลย” อันดับ 3 ร้อยละ 17.88 พรรคก้าวไกล อันดับ 4 ร้อยละ 7.00 พรรคพลังประชารัฐ และอันดับ 5 ร้อยละ 6.32 พรรคประชาธิปัตย์

จากผลโพลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นได้ชัดว่า “บิ๊กตู่-พรรคพลังประชารัฐ” กำลังเผชิญกับ “วิกฤติศรัทธา” ขั้นหนักหน่วง!

ซึ่งสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวของ “บิ๊กตู่” ที่ก่อนหน้านี้มีการปรับเกมลงพื้นที่ถี่มากยิ่งขึ้น จนเรียกได้ว่าเรียกเรตติ้งกันแบบรายสัปดาห์ ไล่ตั้งแต่ช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่มีการลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต ต่อด้วย จ.สกลนคร และล่าสุดที่ จ.เชียงใหม่ ทั้งนี้ก็เพื่อฟื้นคะแนนนิยม เรียกเรตติ้งให้รัฐบาล ตลอดจนมองได้ว่าเป็นการชิงทำแต้มหาเสียงตุนไว้ก่อนการเลือกตั้ง

แต่ในทางกลับกัน มีการอารักขา-รักษาความปลอดภัยกันชนิดที่เรียกได้ว่า “ไข่ในหิน” ทั้งการลงพื้นที่ จ.สกลนคร ที่มีการใช้ระบบการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุด ตรึงกำลังตำรวจ​และทหาร​ ทั้งในและนอกเครื่องแบบ​ กระจายโดยรอบพื้นที่​ พร้อมตั้งด่านปิดทางเข้าออกโดยรอบบริเวณ เข้มงวดถึงขั้นไม่อนุญาตให้นำปากกาเข้าด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นวัตถุในลักษณะของแหลมอาจเป็นอันตรายได้ ขณะที่การลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ก็ไม่แพ้กัน โดยมีการใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจคุ้มกันมากถึง 2,120 นาย และยังมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองร่วมดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและใช้มาตรการรักษาความปลอดภัยขั้นสูงสุดเช่นกัน

เช่นเดียวกับความเคลื่อนไหวของ พรรคพลังประชารัฐ แม้จะยังคงยืนยันท่าทีในการสนับสนุน “บิ๊กตู่” ในตำแหน่งนายกฯต่อไปแบบไม่แคร์เรตติ้งตก แต่เมื่อย้อนมองสถานการณ์ภายในพรรคกลับเผชิญ “วิกฤติศรัทธา” ไม่ต่างกัน แต่ที่หนักกว่าคือ “วิกฤติศรัทธา” ของ ส.ส.ภายในพรรค

ซึ่งงานนี้ก็ทำเอา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ต้องออกแอ๊คชั่นกลางวงประชุม ส.ส.พรรค ว่า “อย่าไปเชื่อโพลมาก บางทีไปถามเด็ก แต่คนอายุ 35 ปีขึ้นไป ยังสนับสนุนเรา ดีกว่าเดิมด้วย ผมมั่นใจว่าครั้งหน้าได้ไม่ต่ำกว่า 150 ที่นั่ง” พร้อมกันนั้นยังมีการพูดแซว ส.ส.หลายคนว่า “ใครจะย้ายไปไหน ให้มาอยู่ด้วยกันเหมือนเดิม มีข่าวอยู่นะ อยู่ด้วยกันนะ”

ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นต่างสอดรับกับผลโพลที่ออกมา และยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า “วิกฤติศรัทธา” ของประชาชนที่มีต่อ “บิ๊กตู่-พรรคพลังประชารัฐ” ไม่ใช่แค่ตัวเลขลอยๆ จากผลโพล อย่างแน่นอน!

แน่นอนว่าจาก “วิกฤติศรัทธา” ที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องธรรมดาที่ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ อาจคิดจะทิ้ง “พี่น้อง 3 ป.” และพรรคพลังประชารัฐ เพื่อไปเตรียมตัวสู้ศึกเลือกตั้งกับพรรคการเมืองใหม่ ที่พอจะมีภาพลักษณ์ที่ดูดีกว่า เพื่อการันตีผลการเลือกตั้งในครั้งหน้า โดยฐานที่มั่นใหม่ที่น่าจะมีออร่าที่สุดในฟากฝั่งรัฐบาลตอนนี้ ก็คงหนีไม่พ้น พรรคภูมิใจไทย ที่มีคนการเมืองจากฝ่ายต่างๆ ตบเท้าเข้าร่วมชายคาอย่างต่อเนื่อง

แต่ขณะเดียวกัน พรรคพลังประชารัฐ ก็มีการวางยุทธศาสตร์แก้วิกฤติ-ยื้อเรตติ้ง โดยเตรียมจัดเวทีพบประชาชน ภายใต้ชื่อแคมเปญว่า “พลังประชารัฐ พลังเพื่อชาติไทย” โดยจะจัด 10 เวที 10 ภาค คิกออฟเวทีแรกที่ศาลากลาง จ.ชลบุรี ในวันที่ 10 ก.ค.นี้ พร้อมทั้งมีบัญชาจากหัวหน้าพรรค ที่สั่งให้แต่ละภาคไปรับฟังความต้องการของประชาชน เพื่อนำมาเป็นนโยบายของพรรค เพื่อหวังใช้นโยบายที่ประชาชนจับต้องได้ ดึงคะแนนนิยมฟื้นเรตติ้งของพรรคเพิ่มขึ้น

ก็ต้องรอดูกันต่อไปว่า การพลิกเกมของพรรคพลังประชารัฐ จะตอบโจทย์ความต้องการประชาชนมากพอจนสามารถกู้ “วิกฤติศรัทธา” ได้หรือไม่

ปรับโฟกัสมาที่เกมการเมืองในสภาที่เริ่มส่งสัญญาณ “วิกฤติ” ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะ “เกมวิบาก” ของรัฐบาล ใน “ศึกซักฟอก” ที่กำลังจะเปิดฉากขึ้นระหว่างวันที่ 19-22 ก.ค.ที่จะถึงนี้ จากความเคลื่อนไหวของ “ผู้กองธรรมนัส”ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ล่าสุดออกมาประกาศท่าทีชัดเจนแล้วว่า หากรัฐมนตรีหลายรายโดนสอย หรือเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย แม้นายกรัฐมนตรีจะยังอยู่ในหน้าที่ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลก็ต้องรับผิดชอบ” ซึ่งทำให้ถูกตีความวส่าเป็นการ “ขู่ล้มรัฐบาล อย่างชัดเจน

ดังนั้นแม้ “ศึกซักฟอก” ครั้งนี้ รัฐมนตรีที่มีชื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจหลายคนจะมีการออกแอ๊คชั่นแสดงความมั่นใจ แต่ก็เป็นไปแบบ “ปากกล้าขาสั่น” เพราะหากสแกนเสียงของ ส.ส.ในสภาเวลานี้ ก็ต้องยอมรับว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้

โดยปัจจุบันมี ส.ส.ปฏิบัติหน้าที่ในสภาจำนวนทั้งหมด 477 คน ซึ่งจำนวน ส.ส.กึ่งหนึ่งของสภาคือ 239 เสียง โดยเสียงของกลุ่มพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคเล็กที่หนุนรัฐบาล นับรวมแล้วประมาณ 237 เสียง ขณะที่พรรคฝ่ายค้านมีจำนวนเสียงในมือ 182 เสียง หากสามารถบวกแต้มเพิ่มอีก 58 เสียง ก็จะได้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง ขณะที่เสียงที่อยู่ในคอนโทรลของ “ก๊วนธรรมนัส” ทั้งพรรคเศรษฐกิจไทย และบรรดากลุ่มพรรคเล็ก มีแต้มในสภาบวกรวมแล้วเกิน 30 เสียง

ดังนั้นช่องว่างระยะห่างของเสียงทั้ง 2 ฝ่ายเพียงไม่กี่เสียงนี้ ก็ต้องรอดูว่าฝ่ายไหนจะสามารถยื้อแย่งเสียงไปได้ในท้ายที่สุด ฝ่ายใดจะสามารถปลูกกล้วย และแจกกล้วยมือเติบเพื่อดึงเสียง ส.ส.ในสภาไปได้ในท้ายที่สุด

แต่นอนกจากนี้ยังมีวาระสำคัญก่อน “ศึกซักฟอก” โดยเฉพาะประเด็นร้อนกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 2 ฉบับ ที่กรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. และ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (ฉบับที่…) พ.ศ…. ที่จะมีการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม ในวันที่ 5-6 ก.ค.นี้ ซึ่งท่าทีของบรรดากลุ่มพรรคเล็ก ยังคงออกอาการ “หนีตาย” ให้เห็น ด้วยการเดินหน้าผลักดันให้ใช้วิธีคำนาญ ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบ “สูตรหาร 500” ซึ่งสวนทางกับกรรมาธิการที่ใช้ “สูตรหาร 100” ซึ่งน่าสนใจว่าผลการพิจารณากฎหมายทั้ง 2 ฉบับนั้น อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบกับเสียงโหวตของพรรคเล็กใน “ศึกซักฟอก” ไปในทิศทางใด ทั้งหมดทั้งมวลคงจะต้องรอลุ้นกันต่อไปว่า ท้ายที่สุดแล้วรัฐบาลจะสามารถรวมเสียง ส.ส.ในสภา เพื่อโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีเอาตัวรอดผ่านสมรภูมิ “ศึกซักฟอก” นำพา “รัฐนาวาเรือเหล็ก” ไปให้ถึงฝั่งฝันได้หรือไม่.