เมื่อวันที่ 3 ก.ค. ที่สวนวชิรเบญจทัศ (สวนรถไฟ) เขตจตุจักร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมกับนางซาราห์ เทเลอร์​ (H.E. Dr. Sarah Taylor) เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทยและผู้แทนจากหอการค้าไทย-แคนาดา นายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา ร่วมกิจกรรมปลูกต้นไม้ระหว่างกรุงเทพมหานครและสถานเอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย เพื่อสนับสนุนโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น สร้างพื้นที่สีเขียวและกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุงตามนโยบายผู้ว่าฯ กทม. และฉลองเนื่องในโอกาสวันชาติแคนาดา (วันที่ 1 กรกฎาคม) รวมจำนวนทั้งสิ้น 130 ต้น

และรับมอบต้นขวดควีนแลนด์ (Queenland Bottle Tree) จากเยาวชนที่ต้องการร่วมโครงการปลูกต้นไม้ล้านต้น โดยมีคณะผู้บริหาร กทม. เจ้าหน้าที่จากสถานเอกอัครราชทูตแคนาดา ผู้บริหารสำนักสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารเขตจตุจักร ร่วมกิจกรรม

นายชัชชาติ กล่าวว่า ทุกวันอาทิตย์ถือเป็นวันปลูกต้นไม้ ซึ่งในวันนี้เป็นการปลูกต้นไม้ร่วมกับเอกอัครราชทูตแคนาดา ส่วนอาทิตย์หน้าจะร่วมปลูกกับสื่อมวลชนที่ท้าทายกันไว้ 1,000 ต้น ที่เขตบางบอน ซึ่งสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะเริ่มเปิดแอพพลิเคชั่นเพื่อให้ประชาชนร่วมลงทะเบียนในโครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นกับ กทม. ซึ่งอาจจะปลูกคนละ 1 ต้นก็ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องสถานที่ปลูกหรือชนิดของต้นไม้ที่จะปลูกเพราะ กทม.จะดูความเหมาะสมให้

นอกจากนี้ สามารถนำเสนอได้ว่าอยากปลูกต้นไม้ชนิดไหน โดยเมื่อลงทะเบียนแล้วจะได้รหัสปลูกต้นไม้ไป และไม่ต้องรีบร้อน เพราะโครงการนี้สามารถดำเนินการได้ภายใน 4 ปี แต่เมื่อปลูกแล้วต้องร่วมดูแลไปด้วยกัน ไม่ให้เป็นภาระของเมือง ซึ่งขณะนี้โครงการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และเพิ่มพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ดำเนินการไปได้ด้วยดี

นายชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า น่าปลื้มใจมากที่ กทม.ดำเนินการมาไม่ถึง 1 เดือน มีคนร่วมประสงค์ปลูกแล้ว 1,300,000 ต้น จึงขอเชิญชวนให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ในการปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นกับกรุงเทพฯ ซึ่งอาจจะขยายเป็น 2 ล้านต้นในอนาคต

นายชัชชาติ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ กทม.จะดำเนินโครงการกรุงเทพฯ 15 นาที อย่างต่อเนื่อง คือการทำสวนหย่อมย่อย ๆ ให้คนกรุงเทพฯ สามารถเดินทางจากบ้านถึงสวนสาธารณะได้ภายใน 15 นาที โดย กทม.จะหาพื้นที่ที่เหมาะสม เนื่องจากสวนสาธารณะที่ดีควรเป็นสวนฯ ที่อยู่ใกล้บ้าน จะเห็นได้ว่าปัจจุบันคนเดินทางมาสวนสาธารณะใหญ่ ๆ ด้วยความลำบาก ต้องขับรถมาและอาจจะมีปัญหาเรื่องค่าน้ำมันด้วย แต่กทม.ก็จะดูแลสวนสาธารณะใหญ่ ๆ ไว้เหมือนเดิม เช่น สวนรถไฟ เป็นต้น เพราะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร เพราะฉะนั้นนโยบายเรื่องสิ่งแวดล้อม กทม.จะลุยกันเต็มที่เพื่อให้กรุงเทพมหานครของทุกคนดีขึ้น

ที่ผ่านมามีคนวิจารณ์ว่า กทม.ตัดต้นไม้ไม่เป็น ต่อจากนี้ไปแต่ละเขตจะมีผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลเรื่องต้นไม้โดยเฉพาะ พร้อมกับการดูแลสายสื่อสารลงดิน เพื่อจะทำให้กรุงเทพฯ สวยงามขึ้น ที่สำคัญทุกคนต้องมีส่วนร่วมเพราะเมืองต้องร่วมเดินไปด้วยกัน เมืองที่ดีได้เราต้องร่วมเป็นหนึ่งเดียวกัน กทม.ขอทำหน้าที่ตรงนี้เกิน 100% หากใครมีความประสงค์สิ่งใดก็สามารถแนะนำมาที่กทม.ได้

ทั้งนี้ ต้นไม้จำนวน 130 ต้นในวันนี้ ประกอบด้วย ยางนา ตะเคียนทอง และศรีมหาโพธิ์ โดยเอกอัครราชทูตแคนาดาฯ ปลูกต้นตะเคียนทอง และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปลูกต้นศรีมหาโพธิ์ ร่วมกับผู้บริหารสวนนงนุช โดยนำไปปลูกในบริเวณสวนที่มีพื้นที่โล่งแจ้ง และมีการเว้นระยะห่างออกจากสิ่งปลูกสร้างหรือเครื่องกีดขวางต่างๆ อย่างน้อย 10-15 เมตรขึ้นไป เพื่อให้ต้นโพธิ์เติบโตได้เต็มที่แล้ว

โดยมอบหมายให้ ​ผอ.สำนักงานสวนสาธารณะ ดูแลเป็นพิเศษ ซึ่งต้นศรีมหาโพธิ์เป็นต้นที่สมเด็จพระสังฆราชมีพระบัญชาให้ขยายพันธุ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่รับมาจากสถานที่ตรัสรู้ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พุทธคยา ประเทศอินเดีย โดยต้นไม้พระศรีมหาโพธิ์ อยู่ในโครงการ “หนึ่งใจ..ให้ธรรมะ” ซึ่ง ดร.มนัส โนนุช ประธานมูลนิธิ มิราเคิล ออฟไลฟ์ฯ และนายกัมพล ตันสัจจา ประธานสวนนงนุชพัทยา นำต้นพระศรีมหาโพธิ์ถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชฯ” 999 ต้น ปลูกเป็นพุทธบูชาทุกวัดทั่วแผ่นดิน น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ ตำหนักอรุณ วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 64 ที่ผ่านมา​.