จากเหตุเพลิงไหม้ “ชุมชนบ่อนไก่” ยังไม่ทันจางก็ตามด้วยหม้อแปลงไฟฟ้าระเบิดทำเพลิงลุกลามอาคารย่านการค้าเก่าแก่ “สำเพ็ง” ขณะที่สถิติเพลิงไหม้ในพื้นที่ กทม. เฉพาะเดือน ม.ค.-พ.ค.65 เกิดขึ้นแล้ว 75 ครั้ง ต้อตอส่วนใหญ่ระบุเกิดจาก “ไฟฟ้าลัดวงจร”  

เป็นคำที่ได้ยินบ่อย แต่ก็ไม่อยากให้เคยชินจนนิ่งนอนใจ เพราะบางเหตุร้ายหากสังเกตและป้องกันตัวเองก่อนได้ย่อมดีกว่า โดยเฉพาะในบ้านที่อยู่อาศัย จะมีข้อสังเกตใดที่ทำให้เรารู้สัญญาณร้ายล่วงหน้าได้บ้าง 

“ทีมข่าวชุมชนเมือง” มีโอกาสขอคำแนะนำจาก นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 และ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า  ให้ข้อมูลว่า  ต้องทำความเข้าใจพื้นฐานปกติระบบไฟฟ้าในบ้านจะรับไฟผ่านเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า (มิเตอร์) โดยส่วนใหญ่จากมิเตอร์จะเข้าไปที่ตู้เมนสวิตช์ (Main Switch) หรืออุปกรณ์บนแผงวงจรควบคุมการจ่ายซึ่งทำหน้าที่ควบคุมความปลอดภัย   

สายไฟที่จะเข้าบ้านมี 2 แบบ คือ แบบพื้นดิน และแบบอากาศคือลอยเกาะตามฝ้า เพดาน เข้ามาต่อกับตู้เมนสวิตช์ ซึ่งในตู้จะประกอบด้วย สวิตช์ตัวใหญ่ที่คุมไฟทั้งบ้าน และมีเซอร์กิตเบรกเกอร์ เป็นตัวตัดวงจรเมื่อเกิดไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งวงจรเล็กเหล่านี้จะเรียกว่าวงจรย่อย โดยจ่ายไฟไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้า เวลาที่เครื่องใช้ไฟฟ้าหรือสายไฟฟ้ามีปัญหาจะทำหน้าที่เป็นตัวตัดกระแสไฟ 

อีกสิ่งสำคัญคือ “เครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่วหรือเครื่องตัดไฟรั่ว” จะช่วยชีวิตคนได้ เพราะกระแสไฟฟ้าต่ำๆ เมื่อเกิดรั่วหรือดูดคน นั่นคือไฟรั่ว จะตัดวงจรได้เร็วมาก ดังนั้น แนะนำให้พื้นที่ชั้นล่างที่เป็นเต้ารับทั้งหมดควรต่อผ่านเครื่องตัดไฟรั่ว และเครื่องใช้ไฟฟ้าชนิดที่มีโอกาสจะโดนน้ำแช่ขัง เช่น เครื่องปั๊มน้ำ เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า และเครื่องใช้ไฟฟ้าโลหะทั้งหมด นอกจากนี้ยังมีสายดินที่ถือสำคัญควรติดตั้ง 

ในส่วนประชาชนโดยหลักขอแนะนำเรื่องกระบวนการตรวจสอบ ทั้งเมนสวิตช์ เซอร์กิตเบรกเกอร์ เครื่องตัดไฟรั่ว สายดิน และสายไฟ ควรให้ผู้เชี่ยวชาญหรือช่างมาตรวจสอบวิธีการเดินสายไฟ เพื่อลดความเสี่ยง อีกวิธีคือดูด้วยตา และสัมผัสด้วยมือผ่านฉนวนที่หุ้มภายนอก หากพบสายไฟเริ่มมีสีเหลือง หรือสัมผัสผ่านฉนวนแล้วรู้สึกมีความร้อน แสดงว่ามีโอกาสเกิดปัญหาต้องให้ช่างเข้ามาดู และควรตรวจปีละครั้ง 

ทั้งนี้ แนะนำข้อสังเกต 3 อาการ เสี่ยงไฟดูด-ไฟช็อต-ไฟเกิน ของอุปกรณ์ไฟฟ้า ได้แก่ สายไฟถลอกหรือชำรุด กรณีที่มีการเดินระบบสายไฟบริเวณผนังหรือฝ้าเพดานอาจส่งผลให้ฉนวนถลอก จึงควรแจ้งให้ผู้รับเหมาหรือผู้เชี่ยวชาญมาทดสอบค่าความเป็นฉนวนทุกครั้ง, เครื่องใช้ไฟฟ้าเสียหรือชำรุด ทุกชนิดมีอายุการใช้งาน กรณีที่ใช้งานนานต่อเนื่อง เช่น การเปิดพัดลมหลายชั่วโมง อาจจะส่งผลให้มอเตอร์มีความร้อนสูงนำไปสู่การไหม้  

ดังนั้น หากพัดลมมีอาการควรปิดวงจรและดึงปลั๊กออกจากเต้าเสียบทันที เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านสามารถแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1.ประเภทที่จะต้องต่อสายดิน โดยทั่วไปจะมีความหนาของฉนวนเพียงพอสำหรับการใช้งานปกติ ผู้ผลิตจำเป็นต้องต่อสายดินของอุปกรณ์ไฟฟ้าเข้ากับส่วนที่เป็นโลหะ เพื่อให้สามารถต่อลงดินมายังตู้เมนสวิตช์ โดยผ่านทางขั้วสายดินของเต้าเสียบ-เต้ารับ เช่น ตู้เย็น เตาไมโครเวฟ 2.ประเภทมีฉนวน 2 ชั้น มักเป็นประเภทที่มีความปลอดภัยในตัว และ3.ประเภทที่ใช้กับแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับไม่เกิน 50 โวลต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทนี้ไม่ต้องมีสายดิน     

“จุดต่อหลวม เสีย หรือชำรุด” เป็นปัญหาใหญ่ระดับหนึ่ง ในกรณีที่ติดตั้งไม่ได้คุณภาพ, “สัตว์หรือสิ่งของบางประเภท” (เช่น โลหะ) เป็นส่วนนำกระแสไฟฟ้า ในช่วงอากาศชื้น หรือหลังฝนตก สัตว์จำพวกมดและปลวก มักทำรังบริเวณที่มีความอบอุ่น หากสังเกตพบสัตว์ดังกล่าว เดินเป็นแนวยาวไปยังบริเวณเต้ารับหรือสวิตช์ ต้องรีบกำจัดเพื่อป้องกันการช็อต-รั่วของระบบไฟฟ้าภายใน 

อีกปัญหาสำคัญคือการใช้เต้ารับที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะเมื่อการต่อสายไม่แน่นจะทำให้เกิดความร้อนและตามมาด้วยการเกิดไฟลุกไหม้ได้  รวมถึงการใช้ปลั๊กพ่วง 1 อัน เสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชิ้น เมื่อเต้ารับของปลั๊กพ่วงหลวมหรือชำรุด หรือบางครั้งเมื่อเสียบปลั๊กลงไปที่เต้ารับแล้วเกิดประกายไฟ นั่นคือสัญญาณว่า ว่าควรเปลี่ยนทันที เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

ทิ้งท้ายเพิ่มเติม เมื่อไม่ได้อยู่บ้านติดต่อกันหลายวัน ควรตรวจสอบ “การปิด (สวิตช์) หรือปลด(ปลั๊กไฟ)” รวมทั้ง เช็ก 10  เครื่องใช้ไฟฟ้าสุ่มเสี่ยงไฟรั่ว ไฟช็อต หรือไฟฟ้าลัดวงจร และกระแสฟ้าผ่ามาตามสายไฟฟ้า ได้แก่ โทรทัศน์ พัดลม คอมพิวเตอร์ ไดร์เป่าผม เครื่องดูดฝุ่น เตารีด หม้อหุงข้าว กระทะไฟฟ้า กาน้ำร้อน และไมโครเวฟ.