สำนักข่าวซินหัวรายงานจากเมืองพุกาม ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ว่า รมว.การต่างประเทศจากจีน เมียนมา ลาว กัมพูชา ไทย และเวียดนาม เข้าร่วมการประชุม รมว.การต่างประเทศความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง (แอลเอ็มซี) ครั้งที่ 7 ในเมืองพุกาม ของเมียนมา โดยบรรดาผู้เข้าร่วมเห็นชอบ การอนุมัติใช้ 6 แนวทางความร่วมมือใหม่ และกระชับความร่วมมือในหลายด้าน


นายหวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรมว.การต่างประเทศจีน กล่าวระหว่างการประชุมว่า นับตั้งแต่มีการริเริ่มความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง หกประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมได้ทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันการพัฒนาคุณภาพสูงของกลไกอนุภูมิภาคแบบใหม่นี้ ประสบความสำเร็จในการสร้าง “ต้นแบบทองคำ” สำหรับความร่วมมือระดับภูมิภาค และนำผลประโยชน์ที่แท้จริงมาสู่ประชาชนในหกประเทศ


หวังคาดหวังว่ ากลุ่มประเทศแอลเอ็มซี จะเดินหน้ายึดมั่นในแนวคิด “การพัฒนา ความเสมอภาค การปฏิบัติได้จริง ประสิทธิภาพ การเปิดกว้าง และความครอบคลุม” แสวงหาความร่วมมือเฉกเช่นที่เป็นมา ส่งเสริมการพัฒนาอย่างเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ตลอดจนร่วมสร้างเขตสาธิตคุณภาพสูงภายใต้แผนริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (บีอาร์ไอ) เขตบุกเบิกภายใต้แผนริเริ่มการพัฒนาโลก (จีดีไอ) และเขตนำร่องภายใต้แผนริเริ่มความมั่นคงโลก (จีเอสไอ)


หวังเสริมว่า การทำเช่นนี้จะสนับสนุนการสร้างแถบการพัฒนาเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ที่เข้มแข็งขึ้น และสรรสร้างประชาคมแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขงที่มีอนาคตร่วมกันอันใกล้ชิดยิ่งขึ้น


ขณะเดียวกัน หวังกล่าวว่านับตั้งแต่ปีที่แล้ว กลุ่มประเทศข้างต้นได้ร่วมมือต่อสู้กับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 เร่งการเชื่อมต่อระหว่างกัน สร้างกลไกการพัฒนา ดำเนินความร่วมมือระดับภูมิภาคอย่างแข็งขัน และขยับขยายความร่วมมือด้านความเป็นอยู่ของประชาชน ซึ่งช่วยส่งเสริมเสถียรภาพ และความมั่งคั่งระดับภูมิภาคเป็นอย่างมาก


หวังเสนอหกแนวทางความร่วมมือ สำหรับกลุ่มประเทศแอลเอ็มซี ซึ่งรวมถึงการชี้แนะแนวทางเชิงกลยุทธ์ กระชับการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ขยายความร่วมมือด้านการเกษตร ยึดมั่นในการพัฒนาที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กระตุ้นความร่วมมือทางดิจิทัล และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชน เพื่อยกระดับความร่วมมือกลุ่มประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ไปอีกขั้น


หวังประกาศว่า จีนจะดำเนินหกมาตรการที่จะเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มประเทศตามแนวแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วยแผนปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือด้านการเกษตรแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แผนผลประโยชน์ด้านทรัพยากรน้ำแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แผนความร่วมมือด้านเศรษฐกิจดิจิทัลแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แผนความร่วมมือด้านอวกาศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แผนผู้มีความสามารถแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง และแผนความร่วมมือด้านสาธารณสุขแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง


ขณะเดียวกัน ทุกฝ่ายเห็นชอบ กับหกแนวทางความร่วมมือใหม่และยอมรับแผนผลประโยชน์ 6 ฉบับของจีน โดยกลุ่มประเทศความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ให้คำมั่นว่าจะเดินหน้ายึดมั่นในในจิตวิญญาณความเคารพซึ่งกันและกัน ความไว้วางใจซึ่งกันและกัน

เอกภาพ และการประสานงาน ตลอดจนกระชับความร่วมมือในด้านสลักสำคัญเพื่อทำให้ความร่วมมือกลุ่มประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นตัวขับเคลื่อนการบรรลุการพัฒนาอันครอบคลุมและยั่งยืน และทำให้กลุ่มประเทศแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง เป็นประชาคมที่ปกป้องความเท่าเทียมทางอธิปไตยและพหุภาคี


ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ได้กลายเป็นแพลตฟอร์มระดับอนุภูมิภาค ที่สำคัญสำหรับชี้นำการปฏิบัติงาน พัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนและให้ความสำคัญกับการพัฒนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความมีชีวิตชีวาอย่างมาก


หวังเรียกร้องกลุ่มประเทศความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง แบ่งปันผลลัพธ์การพัฒนาและร่วมกันเผชิญความท้าทาย พร้อมส่งมอบ “ภูมิปัญญากลุ่ม” สำหรับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ อัดฉีด “แรงกระตุ้นของกลุ่ม” สู่ความมั่งคั่งและการฟื้นฟูเศรษฐกิจระดับภูมิภาค และนำเสนอ “ประสบการณ์ของกลุ่ม” แก่วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2573 ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)


อนึ่ง ความร่วมมือแม่น้ำล้านช้าง-แม่น้ำโขง ประกอบด้วย 6 ประเทศ ได้แก่ จีน กัมพูชา เมียนมา ลาว ไทย และเวียดนาม โดยแม่น้ำล้านช้างมีต้นกำเนิดบนที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ซึ่งในจีนถูกเรียกขานว่าแม่น้ำล้านช้าง และจะถูกเรียกว่าแม่น้ำโขงเมื่อไหลผ่านอีก 5 ประเทศ ก่อนไหลลงสู่ทะเล.

ข้อมูล-ภาพ : XINHUA