เมื่อวันที่ 6 ก.ค. ที่ ศูนย์การศึกษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมบางซื่อ กรุงเทพมหานคร เขตจตุจักร น.ส.ศนิ จิวจินดา ผู้ช่วยเลขาฯ ผู้ว่าฯ กทม. ร่วมรับฟังการประชุมอบรมการใช้งาน Traffy Fondue จาก ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

สืบเนื่องจาก นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. มีนโยบาย “รายงานปัญหาโดยประชาชน แก้ปัญหาโดย กทม. ผ่านแพลตฟอร์มทราฟฟี ฟองดูว์ (Traffy Fondue)” และต่อมาได้มีมาตรการต่อยอดนโยบายดังกล่าว คือ ให้เจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความสะอาด (พนักงานกวาด) ซึ่งอยู่ในพื้นที่และใกล้ชิดกับประชาชนสามารถช่วยเป็นหูเป็นตาในเรื่องต่าง ๆ ได้ด้วย ซึ่งจะทำให้กรุงเทพฯ มีตาอีกหลายหมื่นคู่มาช่วยสอดส่องดูแลและแจ้งปัญหาเส้นเลือดฝอยที่ควรได้รับการแก้ไข

กรุงเทพมหานคร โดยสำนักสิ่งแวดล้อม จึงได้จัดประชุมอบรมการใช้งาน Traffy Fondue แก่ข้าราชการฝ่ายรักษาความสะอาดและสวนสาธารณะ ที่กำกับดูแลพนักงานกวาดถนน จาก 50 สำนักงานเขต รวม 100 คน โดยมี ดร.วสันต์ ภัทรอธิคม นักวิจัยประจำเนคเทค สวทช. ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมวิจัยและทีมผู้พัฒนาแพลตฟอร์ม Traffy Fondue มาเป็นวิทยากรการประชุมอบรม เพื่อให้ข้าราชการที่เข้าร่วมการประชุมสามารถนำความรู้การใช้งานแพลตฟอร์มนี้ ไปถ่ายทอดให้แก่พนักงานกวาด และเจ้าหน้าที่ด้านการรักษาความสะอาดฯ ของสำนักงานเขตได้ อันจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพต่อไป รวมทั้งได้ให้ผู้เข้าร่วมการประชุมทดลองแจ้งปัญหาในฐานะประชาชน พร้อมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรับฟังอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากผู้เข้าร่วมการประชุมในฐานะเป็นหนึ่งในผู้รับเรื่องและผู้ดำเนินการแก้ปัญหาในพื้นที่เขตด้วย

สำหรับขั้นตอนการรายงานปัญหาผ่านแพลตฟอร์ม Traffy Fondue ให้เปิดแอพพลิเคชั่นไลน์ เพิ่มเพื่อน @chadchartofficial (เพื่อนชัชชาติ) กดเมนู รายงานปัญหาเส้นเลือดฝอย ระบบจะให้เพิ่มเพื่อน @traffyfondue (TraffyFondue ฟองดูว์) หรือคลิก https://landing.traffy.in.th?key=teamchadchart จากนั้น ดำเนินการดังนี้

1.พิมพ์รายละเอียดของปัญหา หรือเรื่องที่ต้องการแจ้ง 2.ส่งภาพประกอบ โดยต้องเป็นภาพที่ถ่ายเอง และเป็นภาพปัจจุบัน 3.เลือกประเภทของเรื่องที่แจ้ง อาทิ ทางเท้า ถนน ความสะอาด ไฟฟ้า ประปา น้ำท่วม เสียง กลิ่น ต้นไม้ เผาในที่โล่ง เสนอแนะ และอื่น ๆ 4.ส่งตำแหน่งจุดที่เกิดเหตุ โดยเลือกตำแหน่งที่ตั้งในแผนที่ 5.กดแจ้งเรื่องไปที่ เพื่อนชัชชาติ 6.รับการแจ้งเตือนเมื่อมีความก้าวหน้า โดยเมื่อแจ้งเรื่องเรียบร้อยแล้ว เรื่องจะถูกส่งไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบ หน้าจอโทรศัพท์จะขึ้นว่าอยู่ในขั้นตอน ‘รอรับเรื่อง’ เมื่อรับเรื่องแล้วสถานะจะอยู่ในขั้นตอน ‘กำลังดำเนินการ’ และเมื่อหน่วยงานดำเนินการเรียบร้อยแล้ว สถานะจะขึ้นว่า ‘เสร็จสิ้น’ และ7. หากผู้แจ้งไม่เห็นด้วยกับการปิดเรื่องสามารถ ใช้ปุ่ม เปิดเรื่องใหม่ (re-open) ได้ ทั้งนี้ ประชาชนสามารถดูภาพรวมการแจ้งและการแก้ไขปัญหาทั้งหมดได้ที่ https://share.traffy.in.th/teamchadchart