ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกทม. 2 (ดินแดง) เมื่อวันที่ 7ก.ค. เวลา10.00 น. นายเอกวรัญญู อัมระปาล ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าฯกทม.และโฆษกของ กทม. พร้อมด้วย นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. และน.ส.วิลาวัลย์ ธรรมชาติ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. แถลงข่าวผลการดำเนินงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.และทีมบริหาร ช่วง30วันที่ผ่านมา ภายใต้หัวข้อ “30 วัน กทม. สร้างความร่วมมือทุกมิติ โปร่งใสสำหรับทุกคน” 

นายเอกวรัญญู กล่าวว่า การทำงานของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.ในช่วง30วันที่ผ่านมา เราได้เห็นบุคลิกตัวตนที่เป็นตัวของตัวเอง ทำทุกอย่างให้เป็นเรื่องง่าย ติดดินเข้าถึงง่าย ที่สำคัญการลงพื้นที่แต่ละครั้งของนายชัชชาติ จะมีการไลฟ์ผ่านเฟสบุ๊ก เพื่อต้องการให้เห็นการทำงานเป็นอย่างไร ในส่วนนี้มองได้หลายมิติ อาทิ ได้เห็นการทำงานของผู้ว่าฯกทม.เป็นอย่างไรบ้าง ประชาชนได้เห็นปัญหาไปพร้อมๆกัน  ซึ่งหลายๆครั้งในการลงพื้นท่ีดูปัญหาและมีการไลฟ์ วันต่อมาปัญหาถูกแก้ไขโดยไม่มีการสั่งงานเลย ข้อนี้จึงน่าสนใจและเป็นมิติใหม่ของการทำงานทั้งในเรื่องของความเป็นส่วนตัว การไม่ถือตัว การลงพื้นที่ การเข้าถึงง่าย และการไลฟ์ 

สำหรับการทำงาน30วัน แบ่งออกเป็น4เรื่องหลัก คือ1 216นโยบายPlus ตอนนี้ได้นำนโยบายที่จำเป็นต้องใช้เงินผูกเข้ากับโครงการต่างๆ ซึ่งอยู่ภายใต้7ยุทธศาสตร์ กทม. เรียบร้อยแล้ว ยอมรับว่าเรามีเวลาจำกัดจริงๆ เข้ามาทำงานใช้เวลาไม่ถึง20วัน สามารถเข้าไปเชื่อมโยงกับงบประมาณปี65และปี66 ก่อนนำไปสู่ร่างงบประมาณและนำเผยแพร่ให้ประชาชนเห็นผ่านออนไลน์  

2 เรื่อง4 นโยบายเร่งด้วย ได้แก่ 1การแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เช่น การขุดลอกท่อ ซึ่งพื้นที่กรุงเทพฯมีท่อความยาวรวมกัน6,564 กม. เราตั้งเป้างบประมาณปี65นี้ จะลอกท่อให้ได้3,390กม. ซึ่งรวมกับเป้าหมายเดิม และจากข้อมูล ณ วันที่2 ก.ค.ที่ผ่านมา มีการลอกท่อไปแล้ว2,387 กม. คิดเป็นร้อยละ 70.4 เหลือเวลา2เดือน คาดว่าสำเร็จตามเป้าหมาย 2ความปลอดภัยบนท้องถนนและทางม้าลาย ปัจจุบัน กทม.มีทางม้าลายทั้งสิ้น2,591จุด สำรวจแล้วมีปัญหา1,620จุด ภายในเดือน ก.ย.นี้ เราจะติดตั้งสัญญาณไฟคนข้ามถนนเพิ่มเติม80จุด  เพิ่มเจ้าหน้าที่เทศกิจอำนวยความสะดวกหน้า ร.ร.สังกัด กทม.ให้ครบ437แห่ง เดิม กทม.จัดเจ้าหน้าที่เทศกิจดูแลอำนวยความสะดวกหน้า รร.346แห่ง แบ่งเป็นร.ร.สังกัด กทม.261แห่ง และ ร.ร.นอกสังกัด 85แห่ง  แก้ปัญหาพื้นผิวการจราจร เช่น บริเวณถนนพระราม3ได้รับความร่วมมือจากการไฟฟ้านครหลวง (MEA) ในการปรับปรุงแก้ไขผิวจราจรให้เรียบและในจุดอื่นๆ ขณะเดียวกัน มีการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งรัดการคืนพื้นผิวการจราจรจากการก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ เช่น ที่แยกลำสาลี ท่าพระ การพัฒนาทางเท้า ซึ่งใน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” พบว่าเป็นปัญหาที่มีคนร้องเรียนเป็นจำนวนมากอันดับที่2 การจัดระเบียบสายสื่อสาร ล่าสุด ได้หารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการจัดระเบียบสายสื่อสารความยาว800กม.ให้เสร็จภายในปีนี้ 3หาบเร่แผงลอย เดิมมีหาบเร่แผงลอยที่ถูกกฎหมาย55จุด บช.น.เห็นชอบเพิ่มเติมอีก31จุด อยู่ระหว่างเสนอผู้ว่าฯกทม.ลงนาม และได้ให้แต่ละเขตสำรวจพื้นที่เพิ่มเติม ทั้งพื้นที่สาธารณะที่สำรวจมาแล้ว198จุด  และพื้นที่ภาครัฐหรือเอกชน สำรวจแล้ว124 จุด โดยทั้งหมดเราคาดหวังให้ผู้มีรายได้น้อยได้มีพื้นที่ประกอบอาชีพ ขณะเดียวกัน มีนโยบายลดค่าเช่าแผงค้าตลาด กทม. 50% เป็นเวลา3เดือยน และลดดอกเบี้ยโรงรับจำนำ กทม. และ4สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีการหารือเคที สรุปได้2เรื่องคือ 1จะมีการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยายส่วนที่2ตั้งแต่เดือนส.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อนำรายได้มาจ่ายดอกเบี้ยและค่าจ้างเอกชนเดินรถ และ2 ตั้งใจจะให้มีกาทรเปิดเผยสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวให้ประชาชนรับทราบ 

นายเอกวรัญญู กล่าวอีกว่า 3ความโปร่งใส เป็นเรื่องที่นายชัชชาติเน้นย้ำมาก เริ่มจากเปิดเผยร่างงบประมาณประจำปี2566ของกทม.บนเว็บไซต์ นอกจากนี้ มีการประสานงานร่วมกับหลายองค์กร เช่น องค์การต่อต้านคอรัปชั่น เพื่อสร้างความมั่นใจในการผลักดันนโยบายทุกโครงการอย่างโปร่งใส ขณะเดียวกัน ให้ความสำคัญกับการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ เช่น โครงการปลูกต้นไม้1ล้านต้น ที่ตั้งเป้าภายในปีนี้ แต่ปรากฏว่า ผ่านไป1เดือน มีภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆร่วมปลูกต้นไม้กับเราแล้ว1.3ล้านต้น,โครงการผู้ว่าฯสัญจร ลงพื้นที่รับฟังปัญหาประชาชนประสานหน่วยที่เกี่ยวข้องแก้ปัญหา ซึ่งลงไปแล้ว3เขต,โครงการ “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” จากข้อมูล1-30มิ.ย.65 มีการรายงานปัญหาผ่าน “ทราฟฟี่ ฟองดูว์” จำนวน60,750เรื่อง เฉลี่ยมีคนรายงานวันละ2,025เรื่อง เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วร้อยละ54 เกิดจากการประชาชนเชื่อมั่นว่าจะสามารถแก้ไขได้จึงมีการร้องเรียนผ่านช่องทางนี้มากขึ้น สำหรับ5ปัญหาที่คนกรุงเทพฯร้องเรียนมากที่สุด คือ ถนน 12,264เรื่อง ทางเท้า 4,061เรื่อง แสงสว่าง3,231เรื่อง  ขยะ2,559เรื่อง และน้ำท่วม2,389 เรื่อง ขณะที่หน่วยงานที่รับเรื่องมากที่สุด5 หน่วยงาน ดังนี้ สำนักการโยธา 8,023เรื่อง เขตจตุจักร 4,766เรื่อง สำนักการจราจรและขนส่ง 3,858เรื่อง เขตประเวศ2,100เรื่อง เขตคลองเตย1,995เรื่อง ภาพรวมแก้ไขปัญหาแล้ว27,937เรื่อง อยู่ระหว่างแก้ไข 24,142เรื่อง ส่งต่อหน่วยงานรับผิดชอบ16,618เรื่อง รอเจ้าหน้าที่รับเรื่อง2,757เรื่อง ,เทศกาลหนังกลางแปลง

นายเอกวรัญญู กล่าวต่อว่า ภาพรวม30วันของนายชัชชาติ  คือ1เน้นเน้นเรื่องความโปร่งใส่ แก้ไขปัญหาคอรัปชั่น 2เรื่องการประสานงาน ซึ่งผ่าน30วัน ประสานงานไปแล้วเกือบ100หน่วยงาน ถือเป็นมิติใหม่ที่เราได้เห็นการทำงานที่ดึงหลายภาคส่วนมาร่วมมือกัน และการสื่อสารภายในองค์กรที่เราตั้งใจพัฒนาในจุดนี้อยู่ให้เหมือนระบบ “ทราฟฟี่ฟองดูว์” ที่มีการประสานงานตรงจุด อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นไม่ได้จากผู้ว่าฯกทม.เพียงคนเดียว หากไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนและประชาชนในการร่วมการสร้างเมืองที่น่าอยู่ต่อไป

ด้านนายต่อศักดิ์ กล่าวว่า 1เดือนมีการปรับหน้าที่การทำงาน กระบวนการทำงานต่างๆภายในองค์กร โดยเอาประชาชนเป็นหลัก โดยเฉพาะเรื่องที่ผู้ว่าฯกทม.ลงพื้นที่ไปรับเรื่องมา ขณะที่ข้าราชการให้ความร่วมมือที่ดี เมื่อก่อนอาจรู้สึกว่ามีการแบ่งงานเป็นคนโน้นคนนี้ แต่วันนี้เอางานเป็นตัวตั้งทำให้แบ่งพวกไม่ได้ ทั้งนี้ มองว่าข้าราชการคือผู้ปฏิบัติที่ดีที่สุด เราอยู่เอกชนมานานเรายังไม่เชื่อว่าคนที่รับคำสั่งแล้วกระจายงานได้ดีนั้น ข้าราชการทำได้ดีกว่า เพียงแต่ว่าเราแบ่งงานเขาถูกหรือไม่ เชื่อได้ว่าการบริหารงานจากนี้ไปเป็นแนวใหม่เลย

“ทุกคนเป็นห่วงว่าอาจารย์ทำงานหนัก แต่ไม่รู้หรอกครับท่านตื่นเช้า นอนเร็ว และออกกำลังกาย และลุยงานตั้งแต่เช้า ท่านทำงานแบบนี้มา30ปี ท่านทำปกติของท่าน เรารู้สึกเราไม่ปกติเท่านั้นเอง ท่านสั่งงานตอนตี4 พอตี5ก็ออกกำลังกาย และสำคัญคือคนที่ทำงานกับอาจารย์ต้องย่อยงานเป็น อาจารย์ชอบคนทำงานเกินกว่า100เปอร์เซน์ บางทีคนที่เดินตามอาจารย์บ่อยๆ อาจารย์ไม่ชอบ เพราะเดินตามไม่ได้งาน และบอกตลอดถ้าไม่มีความจำเป็นไม่ต้องมาเดิน ไปทำงานดีกว่า” นายต่อศักดิ์ กล่าว  

น.ส.วิลาวัลย์ กล่าวว่า มีความภาคภูมิใจมากที่ได้ทำงานกับนายชัชชาติ ซึ่งเป็นคนที่คิดบวกมาก ทุกอย่างอาจารย์มีความจริงใจมุ่งมั่นตั้งใจจริงที่อยากแก้ปัญหา เมื่อครั้งลงพื้นที่หาเสียงกับอาจารย์ อาจารย์จำได้หมดว่าจุดไหนมีปัญหาอย่างไร และวันที่ได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ก็กลับไปในจุดที่มีปัญหาตั้งใจอยากแก้ปัญหาจริงๆ และคิดว่าประชาชนชาวกรุงเทพฯก็น่าจะมีความภูมิใจเหมือนกันว่าผู้ว่าฯคนนี้จะทำให้กรุงเทพฯเป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน