คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ส่งสัญญาณชัดเตรียมเคาะค่าไฟฟ้างวดใหม่ (ส.ค.-ธ.ค. 65) ปลายเดือนนี้ หรือต้นเดือนหน้า จ่อปรับขึ้น 90 สต.-1 บาท ทำให้ค่าไฟที่เรียกเก็บจากมือประชาชนแพงถึง 5 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบันเรียกเก็บ 4 บาทต่อหน่วย ถือเป็นสถิติแพงที่สุดตั้งแต่เรียกเก็บจากประชาชน พร้อมเปิดฟังเสียงผลกระทบประชาชนเป็นครั้งแรก

วันนี้ “เดลินิวส์ออนไลน์” จะมาบอกถึง 6 เหตุผล อะไร ทำไม!!! ทำให้ค่าไฟถึงแพงสุดในประวัติศาสตร์

1.ปัญหาของโลก ที่กระทบไทย จากวิกฤติการณ์ราคาพลังงาน ความไม่สมดุลของปริมาณพลังงานไม่พอกับความต้องการพลังงาน ทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซ แพงขึ้นอย่างรวดเร็ว ถูกซ้ำเติมด้วยไฟสงครามรัสเซีย-ยูเครน ตามมาด้วยมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจจากชาติตะวันตก และมาตรการตอบโต้จากรัสเซีย ทำให้ราคาน้ำมัน ก๊าซ และไฟฟ้าของไทยแพงที่สุดในประวัติศาสตร์ เพราะไทยเราเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิ และประเทศเรา ได้เปิดประเทศ ทำให้ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น

2.ปัญหาของไทย ที่กระทบไทยเอง จะทำให้ค่าไฟแพงยืดเยื้อต่ออีก 2 ปี เพราะก๊าซธรรมชาติเชื้อเพลิงต้นทุนต่ำในการผลิตไฟฟ้าของไทยไม่เพียงพอในช่วงรอยต่อสัมปทานแหล่งก๊าซเอราวัณ และหายไปจากระบบ ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือแอลเอ็นจีที่มีราคาผันผวน และแพง จากเดิมราคา 20 กว่าดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ปรับขึ้นมาเป็น 30 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู มาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่หายไป และคาดว่า จะใช้เวลากว่า 2 ปี จะกลับมาเท่าเดิมก่อนเปลี่ยนสัมปทาน

3.ปริมาณก๊าซธรรมชาติที่สำรวจ และผลิตจากแหล่งก๊าซหลักๆ ในเมียนมา ไม่ว่าจะเป็นเยตากุน ยาดานา และซอติก้า ซึ่งเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าอีกแหล่งหนึ่งเริ่มมีปริมาณลดลง

4.ต้นทุนแอลเอ็นจี (ก๊าซธรรมชาติเหลว) นำเข้าที่มีราคาแพงถูกซ้ำเติมด้วยค่าเงินบาท เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ ที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลงต่อเนื่องจากในปลายปี 64 ที่ 32 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ จนถึงปัจจุบันอยู่ในระดับ 33 บาทต่อหนึ่งดอลลาร์ และเคลื่อนไหวอ่อนค่าไปถึง 35 บาทต่อลลาร์สหรัฐ มีผลต่อการนำเข้าแอลเอ็นจีที่แพงอยู่แล้วให้แพงยิ่งขึ้นอีก 

5.ความผันผวนอย่างรุนแรง และระดับราคาแอลเอ็นจี นำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ประมาณการต้นทุนเชื้อเพลิงล่วงหน้า เพื่อใช้ในการคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) แต่ละงวดเป็นไปอย่างลำบาก ขณะที่ผลลัพธ์ คือ การประมาณการต่ำกว่าต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ทำให้เป็นภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสะสมจากงวดก่อน และจะต้องทยอยคืนให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงแทนประชาชน เพื่อตรึงค่าไฟบรรเทาผลกระทบให้ประชาชนเกินกว่า 80,000 ล้านบาทแล้ว

Woman plugging in a wire

6. การทบทวนค่าเอฟที และค่าไฟในงวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 กกพ. มีเหตุผล และความจำเป็นที่ต้องลดภาระทางการเงินให้ กฟผ. โดยการทยอยคืนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงบางส่วนที่ กฟผ.แบกรับต้นทุนแทนประชาชนในงวดก่อนๆ จนถึงปัจจุบันแล้วกว่า 80,000 บาท ด้วยการคืนผ่านการทยอยปรับเพิ่มค่าเอฟที เพื่อรักษาความมั่นคง และเสถียรภาพทางด้านไฟฟ้าให้กับประเทศ

อย่างไรก็ตามครั้งนี้ กกพ.จับกระแสได้ถึงความไม่พอใจ และความเดือดร้อนค่าครองชีพปรับขึ้นสูงของประชาชน จึงได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนเป็ฺนครั้งแรก เกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือเอฟทีงวดใหม่ (ก.ย.-ธ.ค.65) เป็นทางเลือกขึ้นค่าไฟฟ้า 3 ราคา เพื่อให้ประชาชนแสดงความเห็นได้เต็มที่ จากวิธีการเดิมใช้วิธีประชุมสรุปค่าเอฟทีเพียงราคาเดียว แล้วจึงเปิดให้ประชาชนแสดงความเห็น โดยครั้งนี้ประชาชนสามารถแสดงความเห็นผ่านทางเว็บไซต์ www.erc.or.th ได้ตั้งแต่วันนี้-25 ก.ค.นี้ ก่อนที่บอร์ด กกพ.จะประชุมพิจารณาค่าเอฟทีงวดใหม่   

สรุปใจความสำคัญง่ายๆ 3 กรณี คือ

1. ขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง ค่าเอฟทีเรียกเก็บจะอยู่ที่ 93.43 สตางค์ค่อหน่วย ขึ้นจากงวดที่แล้ว (พ.ค.-ส.ค.65) 68.66 สตางค์ต่อหน่วย  หรือปรับเป็น 4.72 บาทต่อหน่วย

2. ขึ้นตามต้นทุนแท้จริง และมีการทยอยคืนเงินให้ กฟผ.วงเงินเบื้องต้น 83,010 ล้านบาท เป็นเวลา 1 ปี (ทยอยปรับในค่าเอฟที 3 งวด งวดละ 45.70 สตางค์ต่อหน่วย) ทำให้ ค่าเอฟทีงวดนี้เรียกเก็บ 139.13 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว (พ.ค.-ส.ค. 65) 114.36 สตางค์ต่อหน่วย 

3. ขึ้นตามต้นที่แท้จริง และทยอยคืนเงินแก่ กฟผ.วงเงินเบื้องต้น 83,010 ล้านบาท เป็นเวลา 2 ปี (ทยอยปรับในค่าเอฟที 6 งวด งวดละ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย) ทำให้ ค่าเอฟทีงวดนี้เรียกเก็บ 116.28 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจากงวดที่แล้ว (พ.ค.-ส.ค.65) 91.51 สตางค์ต่อหน่วย

รู้เหตุผลตามนี้แล้ว ประชาชนอย่างเราๆ คงได้แต่ทำใจ เตรียมควักเงินในกระเป๋าที่มีก็แทบจะน้อยนิดอยู่แล้ว เพื่อเอามาจ่ายค่าไฟที่จะแพงขึ้น โดยเฉพาะในยุคที่ข้าวยากหมากแพง หรือ ยุคข้าวของแพงทั้งแผ่นดิน …เอวังจริงๆ