เมื่อวันที่ 16 ก.ค. ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำคณะกายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่าตอนนี้อยู่ระหว่างพัฒนา ต่อยอดโมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs (ยีนชนิดหนึ่งของมนุษย์ที่ช่วยให้ดีเอ็นเอแข็งแรง) เพื่อใช้รักษา 1.อัลไซเมอร์ 2.พาร์กินสัน และ 3. ปอดเป็นพังผืด ซึ่งตามปกติเมื่อมนุษย์อายุมากขึ้น รอยแยกดีเอ็นเอ ในร่างกายจะลดลง ทำให้เกิดแรงตึงทั่วสายของดีเอ็นเอ ทำให้ไม่สามารถหมุนตัวได้อย่างปกติ ถูกทำลายได้ง่าย ทำให้หยุดการแบ่งตัว ทำให้เข้าสู่วัยชรา และเกิดการเจ็บป่วยในหลายๆ โรค

ดังนั้น ทีมผู้วิจัยได้ทำการศึกษาและพบว่าโมเลกุลมณีแดง หรือ RED-GEMs (REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules) มีคุณสมบัติจะเข้าไปต้านความเสื่อมหรือการเปลี่ยนแปลงของดีเอ็นเอ ถือเป็นเทคโนโลยีแรกของโลก และจากการทดลอง ทดสอบในสัตว์คือหนู หมู และลิง พบว่า หนูวัยชราที่มีแผลเบาหวาน แผลไฟไหม้ ที่มีความแข็งแรงและกระตือรือร้นขึ้น ทั้งการทำงานของ สมอง ตับ และไต ไขมันในช่องท้องและพังผืดในตับได้ลดหายไปด้วย ขณะที่แผลเบาหวาน แผลไฟไหม้หายดี ไม่มีผลข้างเคียง ส่วนการทดสอบในหมูแรกเกิด และทดสอบคุณภาพเนื้อ เมื่อมีน้ำหนัก 100 กิโลกรัม พบว่ามีเนื้อสัมผัสที่นุ่มขึ้น แน่นขึ้น

“จากผลทดลองในหนูที่พบว่ามีความจำดีขึ้นกระตือรือร้น ไขมันในช่องท้องลดลง พังผืดที่ปอดลดลง เพราะฉะนั้นหากฟังตามนี้ คนชราที่มีภาวะความจำเสื่อม ก็มีความหวังในการรักษาให้หายได้ ผู้มีปัญหา ตับทำงานน้อยลง หรือปัญหาตับแข็ง ก็มีความหวังที่จะรักษาให้ดีขึ้นได้ และดูตามกลไกแล้วดูเหมือนว่าจะสามารถรักษาโรคได้อีกหลายอย่าง เพราะสามารถลดพยาธิสภาพในเซลล์และสิ่งที่อยู่รอบๆ เซลล์ได้ เช่น ปัญหากระดูกพรุน และโรคพวกนี้เรากำลังมีการทดลองทั้งในหนูทดลองและลิงแสม” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวและว่า ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ได้เข้ามาให้การสนับสนุน คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ในการพัฒนาเป็นยาต่อไป

ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการทดลองในหนู และลิงแสม ที่เป็นโรคเฉพาะ คือ 1.อัลไซเมอร์ 2.พาร์กินสัน และ 3.ปอดเป็นพังผืด ทั้งนี้ กรณีการทดลองในลิงแสมนั้น ป่วยเป็นโรคตามธรรมชาติ มีภาวะกระดูกบางและอัลไซเมอร์ ซึ่งได้ให้ยามณีแดงกับลิงแสมแล้ว 3 เข็ม ในระยะเวลา 3 สัปดาห์ จากที่วางแผนไว้ 8 เข็ม ในระยะเวลา 8 สัปดาห์ ลิงแสมทุกตัวปลอดภัยดี และไม่มีผลข้างเคียงใดๆ อีก 1 เดือนหลังจากนี้ จะเริ่มทำการวัดผล ส่วนในหนูทดลอง 3 กลุ่มโรคนั้น อยู่ระหว่างการทำให้หนูเป็นโรค คาดว่าน่าจะ ใช้เวลาอีกประมาณ 6 เดือน ถึงจะเริ่มดำเนินการได้ ต่อจากนี้ยังต้องมีการศึกษาวิจัยในคนต่อไป โดยในเฟสแรกจะเป็นการศึกษาในกลุ่มผู้สูงอายุ เพื่อดูประสิทธิภาพความปลอดภัย คาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายน 2566

“กรณีพังผืดในปอดนั้น เป็นโรคที่มีความสำคัญเพราะสาเหตุที่ทำให้ปอดเกิดพังผืดนอกจากการสูบบุหรี่แล้ว ก็ยังมีโรคโควิด-19 ที่ทำให้ปอดของคนไข้มีปัญหาพังผืด ซึ่งปัจจุบันมีคนไข้ที่ติดเชื้อโควิดสะสมอยู่เป็นจำนวนมาก ในไทยนับล้านคน หากปอดคืนสภาพการทำงานยังไม่ได้ ยาตัวนี้ก็จะเข้าไปช่วยเสริมได้ เราก็หวังว่ามันจะช่วยได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้มีการทำการทดลองเพราะยังอยู่ในการทดลองในสัตว์” ศ.ดร.นพ.อภิวัฒน์ กล่าว.