เมื่อวันที่ 5 ส.ค. ผู้สื่อข่าวประจำ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา รายงานว่า มีอดีตข้าราชการทหาร ยศ พ.ท.รายหนึ่ง อายุ 86 ปี ติดเชื้อโควิด พร้อมครอบครัวรวม 4 คน โดยทั้งหมดไปตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่เตียงรักษาเต็ม ทั้ง 4 คน จึงเดินทางกลับมาอยู่บ้าน เพื่อรอเตียง แต่ผ่านไปได้ 4 วัน พ.ท. รายดังกล่าว เสียชีวิตเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (4 ส.ค.) ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพนักงานสอบสวน สภ.ปากช่อง ต้องสวมชุด PPE เพื่อป้องกันเข้าไปตรวจสอบ ก่อนให้ญาตินำศพไปฌาปนกิจทันที

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า สำหรับผู้ติดเชื้อในพื้นที่ อ.ปากช่อง ยังพุ่งขึ้นทุกวัน โดยวันนี้ อ.ปากช่อง พบผู้ติดเชื้อ 71 ราย ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ รวมทั้ง จ.นครราชสีมา พบผู้ติดเชื้อ 494 ราย ผู้ป่วยสะสม 8,909 ราย ป่วยสะสม 1,935 ราย เสียชีวิต 9 ราย คาดว่าผู้ติดเชื้อไม่แสดงอาการ ไปไหนมาไหนได้ปกติ ทำให้นำเชื้อไปแพร่กับคนอื่นที่มาสัมผัสใกล้ชิด

สำหรับการควบคุมการแพร่ระบาดนั้น ได้เร่งหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน ออกเคาะประตูบ้านตรวจคัดกรองผู้ติดเชื้อ เปิด รพ.สนามเพื่อรองรับผู้ป่วย และเปิดศูนย์กักกันผู้มีความเสี่ยงสูง เพื่อป้องกันการแออัดและเตียงเต็มในโรงพยาบาล ขณะที่นายสมเกียรติ พยัคฆกุล นายเทศมนตรีเทศบาลตำบลหมูสี อ.ปากช่อง ได้สั่งซื้อวัคซีน ซิโนฟาร์ม จำนวน 12,000 โด๊ส เพื่อมาฉีดป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ เป็นแห่งแรกของปากช่อง เนื่องจากเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตอุทยานฯ เขาใหญ่

ด้าน นพ.ณรงค์ศักดิ์ บำรุงถิ่น ผอ.โรงพยาบาลปากช่องนานา อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา กล่าวว่า ในช่วงนี้พบผู้ติดเชื้อมีอัตราสูงถือว่าเป็นช่วงพีคสุด ทางทีมแพทย์ก็พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ ไม่ว่าผู้ติดเชื้อจะอยู่รักษาใน รพ.หรืออยู่บ้าน เฝ้าดูอาการ ก็จะมีทีมบุคลากรทางการแพทย์เดินทางไปเช็กตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย ตรวจเลือด และจ่ายยาให้ไปทานที่บ้าน ในกรณีเตียงที่ รพ.รักษาเต็ม แต่คาดว่าประชาชนใน อ.ปากช่อง จะได้ฉีดวัคซีนได้ถึง 70% ซึ่งขณะนี้ได้ฉีดไปแล้ว 50%

ขณะที่ นายคณัสชนม์ ศรีเจริญ นายอำเภอปากช่อง กล่าวว่า ได้ลงพื้นที่ใน ต.คลองม่วง วังไทร หมูสี เพื่อนำสิ่งของเครื่องใช้จาก อบจ.นครราชสีมา มาให้กับผู้ติดเชื้อกักตัวรอดูอาการอยู่ที่บ้าน และเป็นประธานการประชุมศูนย์ปฏิบัติการควบคุมโรค (ศปก.) ระดับตำบล ในมาตรการการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่ โดยมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. สาธารณสุขในพื้นที่ เข้าร่วมประชุม โดยกำหนดให้ แต่ละตำบล ดำเนินการ 1.ขึ้นทะเบียนกลุ่มเสี่ยง พนักงานโรงงานในพื้นที่-แรงงานแคมป์คนงาน ผู้ค้าตลาดนัด เพื่อทำการตรวจเชิงรุกด้วย ART 2.ประชุม ศปค.ตำบล ทุกสัปดาห์ เพื่อนำผลงานเสนอ ศปค.อำเภอ 3. เน้นการรักษาผู้ป่วย ที่รอเตียง ด้วยยาสมุนไพรไทย 4. ขอสนับสนุน อปท. ซื้อ ARt (ด้วยน้ำลาย) เพื่อการตรวจเชิงรุก ในพื้นที่ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดลดลง