เมื่อวันที่ 4 ส.ค. น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รมว.ศึกษาธิการ กล่าวถึงกรณีนักวิชาการมองว่าการการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานเป็นนโยบายหาเสียงว่า ประเด็นดังกล่าวอาจเป็นวาทะกรรมที่พูดกันไป ซึ่งตนไม่อยากให้เรื่องของการศึกษาเป็นเรื่องการเมือง เนื่องจากที่ผ่านมา รัฐบาลได้มีนโยบายหลายเรื่องที่จะช่วยขับเคลื่อนการศึกษาไทยให้มีคุณภาพ โดยเฉพาะเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา รวมถึงการดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาผู้ปกครองและนักเรียน จำนวน 2,000 บาท ตามโครงการให้ความช่วยเหลือบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งก็เป็นนโยบายต่างๆ ที่ช่วยเหลือและบรรเทาภาระผู้ปกครองด้วย

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการการปรับอัตราเงินอุดหนุนรายหัวตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เรียนและเพิ่มศักยภาพสถานศึกษาในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี ตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ทั้งสถานศึกษาของรัฐและเอกชน ครอบคลุมการศึกษาในระบบ นอกระบบ และการศึกษาทางเลือก โดยปรับเพิ่มแบบขั้นบันไดต่อเนื่อง 4 ปีงบประมาณ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566-2569 นั้น เป็นการดำเนินการที่สภาการศึกษา (สกศ.) ได้ทำวิจัยมา 2 ปี อีกทั้งการปรับอัตราเงินอุดหนุนดังกล่าว ก็ไม่ได้มีการปรับเพิ่มมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งเราต้องการทำให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐิจในปัจจุบันและเป็นการช่วยเหลือบรรเทาภาระผู้ปกครอง ทั้งนี้ตนยืนยันว่าการปรับเพิ่มเงินอุดหนุนรายหัวของ ศธ.ไม่ใช่นโยบายหาเสียงแต่อย่างใด