ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยระหว่างลงพื้นที่โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากเพื่อเศรษฐกิจ BCG หรือ U2T for BCG ที่วังเทพทาโร ต.เขากอบ จ.ตรัง ในความรับผิดชอบของมหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช ว่า โครงการ U2T for BCG เป็นโครงการต่อเนื่องจากปี 2564 เป็นการต่อยอดและทำครบทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งพื้นที่เดิมของระยะที่ 1 ประมาณ 3,000 ตำบล ในพื้นที่ใหม่อีก 4,435 ตำบล ทั้งนี้ U2T for BCG จะมีการต่อยอด U2T ระยะที่ 1 โดยมุ่งเน้นที่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของชุมชนให้สามารถออกสู่ตลาดได้อย่างยั่งยืนและต้องเกี่ยวข้องกับ BCG เน้นการใช้วัตถุดิบความหลากหลายทางชีวภาพ ความหลากหลายทางวัฒนธรรมในพื้นที่


รองปลัด อว.กล่าวต่อว่า แม้ว่าระยะเวลาดำเนินการของโครงการ U2T for BCG จะมีเพียง 3 เดือน แต่เป็น 3 เดือนที่เราคิดว่าสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะเรามีบทเรียนในการเรียนรู้มาตั้งแต่ U2T ในระยะแรกแล้ว และน้องๆ ที่มาทำงานกับทีม อว.ล้วนได้รับการฝึกทักษะที่จะต่อยอดตัวผลิตภัณฑ์และบริการ อย่างตำบลเขากอบ เป็นตำบลในพื้นที่ใหม่และเราได้คัดเลือกตัวผลิตภัณฑ์ที่เราจะนำไปสู่การพัฒนาการต่อยอดออกสู่ตลาด โดยมุ่งเน้นเป็นการตลาดสมัยใหม่ ไม่ใช่การตลาดแบบเดิมๆ และยังสามารถเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ได้ เพื่อจะทำให้ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์และบริการมีความยั่งยืน

“โครงการ U2T for BCG ในช่วง 1 เดือนเศษที่ผ่านมา อว. ได้มีการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยอย่างหนัก ทั้งการคัดเลือกผลิตภัณฑ์และบริการที่จะต้องเป็น BCG และต้องเป็นการต่อยอดหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในพื้นที่ มหาวิทยาลัยและผู้เข้าร่วมโครงการ หรือ ทีม อว.จะต้องลงไปสำรวจในชุมชน เพื่อคัดเลือกผลิตภัณฑ์และบริการและจัดทำแผนธุรกิจเพื่อนำไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยเราจะมีกรอบของแผนให้ ซึ่งขณะนี้ทุกพื้นที่ได้ส่งแผนมาแล้วและเริ่มดำเนินการตามแผน ตอนนี้ถือว่าโครงการดำเนินไปได้ตามเป้า โดยเฉพาะการติดอาวุธให้ทีม อว. ในพื้นที่ ทั้งการให้ความรู้ในเรื่องของ BCG เสริมทักษะออนไลน์ คาดว่าภายใน 3 เดือนของโครงการ น้องๆ ในทีม อว.จะได้ความรู้และทักษะในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เกี่ยวกับ BCG ได้อย่างเต็มที่” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าวและว่า

สำหรับการเก็บข้อมูลขนาดใหญ่เป็นรายตำบล หรือ TCD ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก ปัจจุบันสามารถเก็บข้อมูลได้เกือบ 2 ล้านชิ้นแล้ว หน้าที่ของ อว. หลังจากนี้คือจะทำอย่างไรให้ข้อมูลที่ได้มามีความถูกต้องและเอาใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นฐานข้อมูลชุมชนที่สำคัญและเชื่อมโยงกับข้อมูลของหน่วยงานอื่นๆ ได้ โดยขณะนี้ อว.ได้ทำความร่วมมือกับ 16 หน่วยงาน เพื่อนำข้อมูลที่จัดเก็บได้เหล่านี้มาเชื่อมโยงกัน และคาดว่าภายใน 3 เดือนนี้ ประเทศจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์ครบในพื้นที่ 7,435 ตำบลทั่วประเทศแน่นอน