เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 17 ส.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์​ จันทร์โอชา​ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 4/2565 ผ่านระบบ Video Conference​ โดยนายกรัฐมนตรี ได้หันมาทักทายกับสื่อมวลชนก่อนที่จะเดินเข้าห้องประชุมในทันที 

พล.อ.ประยุทธ์​ กล่าวก่อนเปิดการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมส่งเสริมการลงทุน ครั้งที่ 4/2565​ เป็นเรื่องของนโยบายที่ต้องร่วมกันพิจารณา​ โดยขอให้กรรมการทุกท่านช่วยกันพิจารณาลงรายละเอียดต่างๆ หากมีข้อคิดเห็นอะไรที่เป็นประโยชน์ขอให้เสนอมา

จากนั้นภายหลังการประชุมผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามถึงกรณีกระแสข่าวการยุบสภา ภายหลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกระเบียบเงื่อนไข กรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) รักษาการระหว่างสภาหมดวาระหรือยุบสภา โดย พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธตอบคำถามก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าไปทันทีด้วยสีหน้าเรียบเฉย ก่อนจะมอบหมายให้นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกระแสข่าวยุบสภา ว่านายกฯยืนยันไม่มีการยุบสภาและจะเดินหน้าทำงานให้ประชาชนอย่างเต็มที่ในเวลาที่เหลืออยู่

เมื่อถามว่ามีวิเคราะห์หรือไม่ถึงการที่ กกต. ประกาศระเบียบออกมาในช่วงนี้ นายธนกร กล่าวว่า ตนคงไปตอบแทน กกต. ไม่ได้ ไม่ก้าวล่วง และไม่ทราบเหมือนกัน แต่เชื่อว่าคงไม่ใช่การเตรียมพร้อมหากเกิดอุบัติเหตุทางการเมืองแต่อย่างใด เพราะหากย้อนไปก่อนหน้านี้ กกต. เตรียมความพร้อมเลือกตั้งมาตลอด ทั้งในส่วนของการเลือกตั้งท้องถิ่น การเลือกตั้งเมืองพัทยาและการเลือกตั้ง กทม. ที่เตรียมการมาตลอดเวลาอยู่แล้ว

เมื่อถามย้ำว่าหลายฝ่ายมองว่าการออกระเบียบดังกล่าวมาในช่วงใกล้ที่ศาลพิจารณาปมวาระ 8 ปี เป็นการส่งสัญญาณยุบสภา นายธนกร กล่าวว่า คงไม่ใช่ ย้ำว่านายกฯ ยืนยันไม่มีและบอกแล้วว่าเวลาที่เหอลือยู่ขอทำงานให้ประชาชนเต็มที่ ส่วนตัวมองว่า ประเทศกำลังฟื้นตัวทั้งในด้านเศรษฐกิจและสถานการณ์โควิดกำลังจะคลี่คลาย ดังนั้นสิ่งที่นายกรัฐมนตรีดำเนินการเป็นผลดีกับประเทศ จึงไม่อยากให้การเมืองมาทำลายบรรยากาศให้ประเทศมีปัญหาขอให้นายกฯ ได้ใช้เวลาทำเพื่อประชาชนจะดีกว่า 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณีราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ระเบียบ กกต. ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้ง พ.ศ. 2563 มีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยระเบียบฉบับดังกล่าวระบุถึงกรณี ครม.ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุครบวาระ 4 ปี ของสภาผู้แทนราษฎร หรือกรณีมีการยุบสภา ที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ ครม.ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่า ครม.ที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ ให้ กกต. วางระเบียบเกี่ยวกับข้อห้ามในการปฏิบัติหน้าที่ของ ครม.

โดยสาระสำคัญของระเบียบดังกล่าว กำหนดห้ามครม.ใช้ทรัพยากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งที่จะสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง คือ 1.ใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐ โดยการกำหนดนโยบาย โครงการ แผนงาน โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที และมีลักษณะเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง 2.จัดให้มีการประชุม ครม.นอกสถานที่นอกเหนือจากการประชุมตามปกติ และมีการใช้ทรัพยากรของรัฐหรือบุคลากรของรัฐเพื่อเป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง 3.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการประชุม อบรม หรือสัมมนาบุคลากรของรัฐ หรือเอกชน โดยใช้เงินงบประมาณของหน่วยงานของรัฐหรือเงินของกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ โดยอาจให้มีการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เว้นแต่เป็นการประชุมตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิด ความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

4.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการอนุมัติ โอนหรือเปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณ รายจ่ายของหน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือให้หน่วยงานของรัฐหรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ ทำการแจกจ่ายทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดให้แก่ประชาชน เว้นแต่มีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษา ผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง 5.กำหนด สั่งการหรือมอบหมายให้มีการแจกจ่ายหรือจัดสรรทรัพยากรของรัฐให้แก่บุคคลหนึ่งบุคคลใด โดยไม่มีเหตุอันสมควร เว้นแต่เป็นกรณีต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด หรือมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนเพื่อรักษาผลประโยชน์ของรัฐหรือประชาชน แต่ต้องมิใช่เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง 6.ใช้พัสดุหรือเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่ หรือใช้บุคลากรของรัฐปฏิบัติงานเพื่อสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง และ 7.ใช้ทรัพยากรของรัฐ เช่น คลื่นความถี่ หรือเครื่องมือ อุปกรณ์ที่ใช้ในการส่ง วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และโทรคมนาคม หรือใช้งบประมาณด้านการประชาสัมพันธ์ ของหน่วยงานของรัฐ หรือกิจการที่รัฐถือหุ้นใหญ่เพื่อประโยชน์ในการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ที่จะเป็น การสร้างโอกาสให้เกิดความไม่ทัดเทียมกันในการเลือกตั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับระเบียบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เคยมีใช้บังคับมาตั้งแต่ปี 51 แต่เนื่องจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงได้มีการยกร่างระเบียบขึ้นใหม่ เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่าระนายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกกต.มีการลงนามตั้งแต่วันที่ 28 ต.ค.63 ซึ่งสำนักงาน กกต.ได้มีการนำส่งระเบียบดังกล่าวส่งไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีตั้งแต่ปี 63  หลังจากที่ประธาน กกต.ลงนามแล้วไม่นาน  แต่สำนักนายกฯเพิ่งนำระเบียบดังกล่าวประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสข่าวทางการเมืองว่ารัฐบาลอาจมีการยุบสภาเร็วๆ นี้ เนื่องจากปัญหาเรื่องวาระการดำรงตำแหน่ง 8  ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ ขณะเดียวกัน สำนักงาน กกต.ได้มีการจัดประชุมผู้อำนวยการการเลือกตั้งทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพร้อมในการจัดการเลือกตั้ง ส.ส.ที่จะครบวาระในเดือน มี.ค.66