ที่ศาลาว่าการ กทม. เมื่อวันที่ 17 ส.ค. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า เพื่อหารือแนวทางการจัดการมูลฝอยและข้อปัญหาต่างๆ ว่า ก่อนหน้านี้เคยมีแนวคิดว่า เรียกว่า “ซาเล้ง ช่วยชาติ” เพราะส่วนหนึ่งคือช่วย รีไซเคิลโดยที่เราไม่ต้องเสียค่าจ้าง คือ เอาของที่สามารถรีไซเคิลได้ไปขายร้านรับซื้อของเก่า ช่วยลดขยะที่เข้าสู่กระบวนการจัดเก็บได้ด้วย การมีอยู่ของซาเล้ง การรับซื้อของเก่าจะเป็นประโยชน์ในการดูแลขยะของเมือง

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาร้านรับซื้อของเก่าอาจมีปัญหาเรื่องผังเมือง เกี่ยวกับการตั้งอยู่ไม่สอดคล้องกับผังเมือง วันนี้สมาคมฯได้ยื่นข้อเรียกร้อง 10 ข้อ คือ 1.การขึ้นทะเบียนซาเล้งให้มีประวัติ และถูกกฎหมาย 2.ขอรับการสนับสนุนเครื่องชั่งนำหนักขยะสำหรับประกอบอาชีพของซาเล้ง 3.เปิดโอกาสให้ซาเล้งมีการฝึกอบรม จดทะเบียน เพราะบางหมู่บ้าน บางพื้นที่ไม่ให้ซาเล้งเข้าไปเก็บของ ในส่วนนี้สามารถให้เข้าไปช่วยเก็บขยะหรือสินค้ารีไซเคิลได้มากขึ้น 4.กำหนดการรีไซเคิลให้เป็นมาตรฐานมากขึ้น 5.จะทำแอพพลิเคชั่นคัดกรอง หรือเรียกให้ซาเล้งเข้าไปรับสินค้ารีไซเคิล

6.ขยะกำพร้า หรือขยะที่รีไซเคิลไม่ได้ จะจัดเก็บเพื่อนำไปกำจัดโดยการเผาผลิตเป็นพลังงานได้อย่างไร 7.เพิ่มวิชาการรีไซเคิลขยะในหลักสูตรของโรงเรียน 8.สนับสนุนให้มีการแจกเครื่องทำปุ๋ยหมักราคาถูก 9.ส่งเสริมให้ใช้วัสดุรีไซเคิลใน กทม. และ10.การตั้งอยู่ของร้านรับซื้อของเก่า ขนาด 100 ตร.ม.ขึ้นไป ที่มีปัญหาเรื่องผังเมือง และความเดือดร้อนรำคาญของผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม มองว่าการมีร้านรับซื้อของเก่าที่ถูกกฎหมายยังมีความจำเป็นอยู่ เพื่อรับซื้อของจากซาเล้งและนำไปส่งโรงงานอีกต่อหนึ่ง หากตั้งอยู่ไกล หรือห่างมาก จะกระทบต่อต้นทุน ค่าเชื้อเพลิงของซาเล้ง

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ภาพรวมการหารือเป็นไปในทิศทางที่ดี และเป็นการเข้าใจในธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการดูแลขยะของเมือง ทำให้การรีไซเคิลสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น กทม.จะหาทางที่จะอยู่ร่วมกัน โดยให้ซาเล้ง ร้านรับซื้อของเก่าอยู่ในวงจรการบริหารจัดการขยะของ กทม.ด้วย

ด้านนายพรพรหม วิกิตเศรษฐ์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. กล่าวถึง นโยบายแยกขยะเปียก โดยเฉพาะขยะเศษอาหาร เนื่องจากเมื่อขยะเปียกไปรวมกับขยะอื่นๆ ทำให้การรีไซเคิลทำได้ยาก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนในการแยกขยะตั้งแต่ต้นทางว่าจะไม่มีการเทรวมกับขยะทั่วไป โดย กทม.จะจัดรถเก็บขยะประเภทเศษอาหาร ตามเส้นทางที่มีร้านอาหารเยอะ โดยจะนำร่อง 3 พื้นที่เขตได้แก่ พญาไท ปทุมวัน และหนองแขม เริ่มตั้งแต่วันที่ 4 ก.ย.นี้ จากนั้นในเดือน พ.ย. จะขยายนโยบายจัดเก็บขยะประเภทเศษอาหารไประดับแขวง ก่อนกระจายไปตามเขตต่างๆ ในต้นปี 2566.