เมื่อวันที่ 14 ก.ย. ที่อาคารบริหารพระราม 9 นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ได้จัดแถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์ภาพรวมธุรกิจ รวมทั้งเปิดเผยถึงการเข้าร่วมประกวดราคาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ว่า จากที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้แจ้งให้บริษัทฯ ทราบถึงผลการประเมินคุณสมบัติและเทคนิคว่า บริษัทฯ ผ่านเกณฑ์และเสนอผลประโยชน์ให้แก่รัฐสุทธิ (NPV) -78,287.95 ล้านบาท โดยมาจากการการหักลบระหว่างส่วนที่เอกชนจะตอบแทนให้รัฐ กับเงินที่เอกชนขอให้รัฐช่วย ซึ่งถือเป็นข้อเสนอที่ดีที่สุดนั้น ทางบริษัทฯ ยืนยันว่าข้อเสนอทั้งหมดเป็นไปตามเงื่อนไขและกติกาที่รัฐกำหนดขึ้น

นอกจากนี้ข้อเสนอบริษัทฯ ยังดำเนินการตามข้อกำหนดทางวิศวกรรม (specification) งานโยธาและระบบรถไฟฟ้า วิธีการและเทคนิคการก่อร้างโดยเฉพาะการก่อสร้างงานอุโมงค์และสถานีใต้ดิน ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ต้องดูแลความปลอดภัยสูงสุด ระบบรถไฟฟ้าที่จัดซื้อมีประสิทธิภาพสูง อายุการใช้งานนาน มาให้บริการแก่ประชาชน และมีข้อเสนอทางการเงินที่เป็นประโยชน์แก่รัฐทั้งในส่วนของเงินสนับสนุนค่างานโยธาที่ต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่หากพิจารณาข้อเท็จจริงพบว่าราคาค่าก่อสร้างในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวสูงขึ้นมาก โดยบริษัทฯ สามารถแบ่งผลประโยชน์เพิ่มเติมให้แก่ รฟม.ได้

นายสมบัติ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้หากบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้รับสัมปทานในโครงการดังกล่าว บริษัทฯ พร้อมที่จะเริ่มงานได้ทันที โดยมี บมจ.ช.การช่าง เป็นพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในงานก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินเป็นอย่างมาก โดยบริษัทฯ มั่นใจว่าจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกได้ภายใน 3 ปีครึ่ง หรือภายในปี 68 และส่วนตะวันตกได้ภายใน 6 ปี หรือภายในปี 71 ตามแผนงานของ รฟม. ซึ่งตรงนี้ถือเป็นจุดเด่นของบริษัทฯ ที่ทำงานทุกโครงการประสบความสำเร็จ เปิดบริการได้ตามสัญญา เป็นไปตามแผน หรือก่อนแผนเสมอ

บริษัทฯ ประเมินวงเงินการลงทุนในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม คาดว่าจะใช้เงินทุนราว 1.2 แสนล้านบาท โดยจะจัดหาเงินทุนจากเงินกู้สถาบัน หรือออกหุ้นกู้ ไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อเพิ่มทุน ทั้งนี้ คาดการณ์ว่า รฟม.จะมีการเรียกเจรจากับบริษัทฯ เพื่อพิจารณาข้อเสนอที่ดีที่สุดในการดำเนินโครงการดังกล่าวในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งบริษัทฯ พร้อมให้ความร่วมมือในการเจรจา หลังจากนั้น บริษัทฯ จะเริ่มงานก่อสร้างทันที เพื่อเร่งรัดให้แล้วเสร็จตามแผน อีกทั้งจะเร่งติดตั้งระบบรถไฟฟ้า และจัดหาขบวนรถ เพื่อเริ่มให้บริการส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ภายในปี 68

“บริษัทฯ มีความพร้อมที่จะดำเนินโครงการดังกล่าวตามข้อเสนอที่ระบุไว้ จากประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา ไม่เคยมีประวัติทิ้งงานหรือส่งมอบงานล่าช้า อีกทั้งไม่เคยให้บริการรถไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อการบริการประชาชน และไม่มีความกังวลอะไรเกี่ยวกับโครงการที่เกิดขึ้นในขณะนี้ รวมทั้งจะไม่มีการฟ้องร้องกับภาครัฐ เพราะเรื่องการฟ้องร้องไม่ได้อยู่ในวิสัยของ BEM ไม่ได้อยู่ในดีเอ็นเอของเรา” นายสมบัติ กล่าว

นายสมบัติ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่มีเอกชนบางราย ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการคัดเลือก เปิดเผยว่ามีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่ รฟม. มากกว่าที่บริษัทฯ เสนอ ก็ถือเป็นสิทธิของเอกชนรายนั้นจะทำ แต่เนื่องจากการให้ข้อมูลมีการพาดพิงถึงข้อเสนอของบริษัท ซึ่งอาจทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดว่าข้อเสนอของบริษัทฯ ทำให้รัฐเสียประโยชน์ บริษัทฯ จำเป็นต้องชี้แจงว่า บริษัทฯ ได้จัดทำข้อเสนอที่เป็นประโยชน์แก่รัฐ เข้าร่วมการคัดเลือกภายในเงื่อนไข และกติกาที่รัฐกำหนด การนำข้อเสนอด้านการเงินอื่น ซึ่งไม่ทราบว่าอยู่บนเงื่อนไข สมมติฐานใด ผ่านเกณฑ์การประเมินของ รฟม.หรือไม่ มาเปรียบเทียบกับข้อเสนอด้านการเงินของบริษัทฯ คงไม่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้ 

ส่วนเงื่อนไขการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องการจ้างเหมาช่วง (ซับคอนแทรค) ในส่วนของงานโยธา โดยในข้อเสนอของบริษัทฯ ได้ระบุในการจ้างงานโยธา คือ บมจ.ช.การช่าง ดังนั้นหากบริษัทฯ จะจ้างผู้รับเหมารายอื่นในการก่อสร้างงานโยธา ก็สามารถดำเนินการได้ โดยจะต้องแจ้งรายละเอียดการจ้างไปยัง รฟม. เพื่อขออนุญาตจ้างงาน เบื้องต้นก็เชื่อว่าทุกโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้เพียงรายเดียว แต่ก็ต้องเลือกผู้รับเหมาที่มีความสามารถ มีประสบการณ์

นายสมบัติ กล่าวด้วยว่า สถานการณ์จำนวนผู้ใช้บริการทางด่วนนั้น ขณะนี้ปริมาณผู้ใช้ทางด่วนฟื้นตัวกลับมาเร็วมาก ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.1 ล้านเที่ยว/วัน คิดเป็น 90% ของปริมาณผู้ใช้ทางก่อนเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ส่วนรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน ปัจจุบันปริมาณผู้โดยสารเฉลี่ยอยู่ที่ 3.2 แสนเที่ยว/วัน คิดเป็น 85% ของปริมาณผู้โดยสารก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งนี้คาดว่าภายในสิ้นปี 65 จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติทั้งทางด่วนและรถไฟฟ้า โดยคาดการณ์ว่า ในปี 66 ผู้โดยสารรถไฟฟ้าจะเฉลี่ยอยู่ที่ 5 แสนเที่ยว/วัน

ทั้งนี้จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปี 63 รายได้ของบริษัทฯ หายไปกว่า 60% แต่ในปัจจุบันผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ คาดว่า ทั้งปี 65 บริษัทฯ จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่า จะมีกำไรเกิน 2 พันล้านบาท หลังจากในช่วงครึ่งปีแรก/65 มีกำไรอยู่ที่ 970 ล้านบาท และในปี 66 คาดการณ์จะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท และมีกำไรอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาท

สำหรับการคาดการณ์รายได้ และกำไรของปี 66 นั้น  มองว่ามาจากหลายปัจจัย อาทิ การเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ที่จะขนส่งผู้โดยสารมาใช้รถไฟฟ้า MRT ประกอบกับการเปิดตัวโครงการใหญ่ๆ ตลอดเส้นทางรถไฟฟ้า ทั้งศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์, โครงการ One Bangkok, Singha Estate, Samyan Mitrtown รวมถึงมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทำให้รถไฟฟ้า MRT มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะบริเวณสถานีวัดมังกร (เยาวราช).