กลายเป็นคำถามชวนสงสัย และวิตกมากขึ้นโดยเฉพาะผู้ที่สัญจรบนท้องถนน เพราะไม่รู้ว่าจู่ๆ รถจะตกหลุมกะทันหันวันไหน และประชาชนทั่วไปสามารถสังเกตเห็นสัญญานล่วงหน้าได้หรือไม่

ทีมข่าวชุมชนเมือง” มีโอกาสสอบถามประเด็นดังกล่าวจาก นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯ กทม. ซึ่งให้ข้อมูลกรณีถนนยุบตัวลักษณะเป็นโพรงว่า ไม่ได้เกิดจากเรื่องฝนหรือน้ำแน่นอน แต่เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างที่ไปกระทบกับระบบท่อด้านล่างถนน จนทำให้มีการเคลื่อนไหวของตัวดิน เช่น ท่อไฟฟ้า ท่อประปา ท่อระบายน้ำ โดยท่อเหล่านี้ถูกฝังอยู่ใต้ดิน เมื่อขุดเปิดการก่อสร้างอาจไปกระทบท่อ ส่งผลให้ดินเคลื่อนไหว

ยกตัวอย่าง กรณีปากซอยสุขุมวิท 101/1 กทม. เป็นการก่อสร้างสายไฟ-สายสื่อสาร ซึ่งมีการดันท่ออาจไปกระทบกับตัวท่อระบายน้ำทำให้มีดินไหลเข้าไป ส่งผลให้จุดเดิมเกิดเป็นช่องว่างและกลายเป็นโพรง ซึ่งถนนที่เกิดหลุมยุบจนเป็นโพรงใน กทม. ช่วงนี้ สาเหตุจึงมาจากการก่อสร้างใต้ดิน หรือการสร้างที่มีการเคลื่อนย้ายสาธารณูปโภคเป็นหลัก

ขณะที่ความเสียหายของถนนที่เกิดจากน้ำท่วมขัง นายวิศณุ ระบุ มักจะเป็นลักษณะผิวถนนหลุดร่อน ความเสียหายจากน้ำท่วมไม่เกี่ยวกับโพรง แต่ความเสียหายจากน้ำท่วมขังจะทำให้ผิวถนนหลุดร่อน โดยผิวถนนมี 2 แบบ คือ ผิวลาดยางกับผิวคอนกรีตที่อยู่ใน กทม. ไม่รวมผิวลูกรังที่อยู่รอบนอก ผิวถนนลักษณะนั้น เมื่อฝนตกลงมาทำให้ดินนุ่มและเกิดเป็นหลุมได้ ซึ่งหลุมบ่อเกิดขึ้นได้ง่ายมากสำหรับถนนลูกรัง

ส่วน “ถนนลาดยาง” มีน้ำท่วมขังนานๆ จะทำให้การยึดเกาะของตัวยางเสื่อมประสิทธิภาพลง ส่งผลให้ผิวถนนหลุดร่อนได้เพราะถนนลาดยางยึดได้เพราะหิน ในเมื่อยางเสื่อมหินก็หลุด ผิวถนนลาดยางจึงอาจเกิดหลุมบ่อ หลุดร่อนและผิวขรุขระง่ายขึ้น ด้าน “ถนนคอนกรีต” อาจจะไม่เกิดผลทันที ยกเว้นหากมีน้ำซึมเป็นเวลานาน จะทำให้เหล็กที่เสริมคอนกรีตด้านล่างเกิดสนิม จนเกิดเป็นโพรงและเกิดรอยแตก เป็นความเสียหายสะสมไม่ใช่ความเสียหายที่เกิดในทันที

สำหรับกรณีเกิดโพรงนั้นเกิดจากความเสียหายของโครงสร้างใต้ดิน เพราะลักษณะของการยุบตัวมาจากดินเคลื่อนออกไป เช่น หากมีท่ออยู่ใต้ดิน แต่ท่อนั้นเกิดมีรอยรั่วทำให้ดินที่มีอยู่ไหลลงไปในท่อ ทำให้จุดเดิมที่เคยมีดินอยู่นั้นเกิดเป็นโพรงและเกิดการทรุดลงมา

ส่วนจุดเสี่ยงต่อถนนยุบเป็นโพรงว่าส่วนใหญ่จะอยู่ตามแนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าหรือไม่ นายวิศณุ กล่าวว่า จุดเสี่ยงจะอยู่ตามเส้นทางที่มีการขุดสร้างท่อสายสื่อสารท่อไฟฟ้า แนวรถไฟฟ้าจึงอาจไม่ค่อยเกี่ยว ยกเว้นแนวก่อสร้างดังกล่าวมีการย้ายสาธารณูปโภคทั้งไฟฟ้า ประปา และระบายน้ำ

“ถนนที่ไม่มีแนวรถไฟฟ้าก็สามารถเกิดขึ้นได้เพราะหากนำสายไฟฟ้าลงดินก็จะต้องทำบ่อขนาดใหญ่ หรือจุดที่คนมักจะบ่นว่าฝาปิดบ่อไม่เรียบ จุดนี้แหละที่มีโอกาสเกิดได้ อย่างเช่น ถนนพระราม 3 ที่เคยเกิดเหตุขึ้นมา โดยจากข้อมูลที่มี 6 เดือนย้อนหลัง พบเหตุที่มาจากลักษณะการก่อสร้างจนทำให้เกิดปัญหาการยุบตัว มาจากการก่อสร้างใต้ดินรวม 15 ครั้ง”

อย่างไรก็ตาม ย้ำว่าโดยปกติ กทม. โดยสำนักการโยธา จะส่งทีมสำรวจด้วยสายตาทุก 15 วัน และส่งรายงาน หากพบความผิดปกติจะใช้ เครื่องGPR (Ground Penetrating Radar-เครื่องหยั่งความลึกด้วยสัญาณเรดาร์) สแกนเพื่อตรวจสอบ ซึ่งเป็นการสแกนเฉพาะจุดไม่ได้สแกนแบบปูพรมทั้งหมด

ทั้งนี้ ให้ข้อสังเกตเบื้องต้นกับประชาชน หากพบลักษณะผิวถนนเป็น “แอ่ง” ไม่ใช่ “ลูกคลื่น” ให้สันนิษฐานว่าจุดดังกล่าว อาจเสี่ยงต่อการเกิดโพรง เจ้าหน้าที่จะนำเรดาห์ไปสแกน แต่หากผิวถนนปกติจะดูยาก ยกเว้นยุบแล้วหรือยุบไปบ้างแล้ว หากเห็นความผิดปกติของถนนก็สามารถแจ้งเข้ามาได้.

ทีมข่าวชุมชนเมือง รายงาน