เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 1 ธ.ค. ที่มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการอำนวยการด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ครั้งที่ 4/2565 โดยมีนายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมการประชุมด้วย

โดย พลอ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งปัจจุบันกำลังเข้าสู่ช่วงฤดูฝน ทำให้มีฝนตกชุก โดยเฉพาะบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ซึ่งได้มีการใช้ข้อมูลปริมาณน้ำฝนพยากรณ์ในระบบวันแม็พ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพื่อเตรียมพร้อมเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี 

เพื่อบูรณาการความร่วมมือการบริหารจัดการน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงได้ติดตามแนวทางทางการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลาง ปี 2565 โดยคณะกรรมการลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง เพื่อทำหน้าที่ควบคุมติดตาม การบริหารจัดการน้ำของเขื่อนบางลางให้เป็นไปตามแผนการบริหารจัดการน้ำที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบ รวมถึงสามารถปรับแผนการระบายน้ำ เพื่อแก้ไขสถานการณ์ได้ทันทีในกรณีที่มีการประเมินหรือคาดการณ์ว่าจะเกิดภาวะวิกฤติ คณะทำงานฯ เขื่อนบางลางได้การคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนจากฝนคาดการณ์และกำหนดแผนการระบายน้ำให้สามารถ ลดผลกระทบและความเสี่ยงได้มากที่สุด โดยตลอดเดือน ธ.ค. 65 มีแผนการระบายน้ำวันละ 8-12 ล้านลูกบาศก์เมตร และปรับลดตามสถานการณ์ ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบแผนการระบายน้ำดังกล่าวและกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติตามกลไกที่กำหนดเพื่อลดผลกระทบให้เกิดแก่ประชาชนน้อยที่สุด นอกจากนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้การช่วยเหลือ ฟื้นฟู เยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบและเร่งระบายน้ำในทุ่งลงสู่ลำน้ำสายหลักต่อไป

พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบกรอบแนวทางแก้ไขปัญหาระยะเร่งด่วนในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายในการเพิ่มพื้นที่แก้มลิงรับน้ำให้มากขึ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมพื้นที่จังหวัดลุ่มเจ้าพระยาตอนล่างที่ประสบปัญหาน้ำท่วมเป็นประจำทุกปี และมีแนวโน้มที่เพิ่มมากขึ้น จากสภาพการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันและสภาพอากาศที่มีความผันผวนมากขึ้น ยังเป็นการเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ในช่วงแล้งได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้น โดยเฉพาะน้ำเพื่อการเกษตร โดยมีการกำหนดเป้าหมายในการดำเนินการปี 65-68 คือการตัดปริมาณน้ำหลากส่วนเกิน 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมอบหมายให้มีการเร่งดำเนินการควบคู่กับการดำเนินการโครงการ 9 แผนหลักลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง และมอบหมายให้มีการเสนอต่อ กนช. ให้ความเห็นชอบต่อไป

จากนั้น พล.อ.ประวิตร เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนครั้งที่ 2/2565 พล.อ.ประวิตร ได้ขอให้ทุกหน่วยงานเร่งรัด ดำเนินการ แก้ไขปัญหา ความเดือดร้อนของประชาชน รวมถึงรายงานผลให้คณะกรรมการ ทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็วต่อไป.