นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก นายสัตวแพทย์ชุติพล มงคลรัตน์ ผู้อำนวยการกองสารวัตรและกักกัน กรมปศุสัตว์ ว่า นายสัตวแพทย์จิรภัทร อินทร์สุข หัวหน้าด่านกักกันสัตว์ชลบุรี พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ ได้เข้าตรวจสอบสถานประกอบกิจการผลิตแปรรูปวัตถุดิบเนื้อและเครื่องในสัตว์รายใหญ่แห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่ ต.บ่อวิน อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี สืบเนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ามีการลักลอบผลิตเนื้อสัตว์โดยไม่ได้รับอนุญาตหวั่นแพร่โรคระบาดสัตว์ร้ายแรง

ผลการเข้าตรวจสอบของเจ้าหน้าที่พบว่าสถานประกอบการดังกล่าว ไม่มีการขออนุญาตผลิตอาหาร ไม่มีเอกสารใบอนุญาตค้าซากสัตว์ (ร.10) ไม่มีเอกสารเคลื่อนย้ายซากสัตว์ (ร.3) และไม่มีเอกสารรับรองให้จำหน่ายเนื้อสัตว์ (รน.) ซึ่งมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรคระบาด พ.ศ. 2558 พระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 พระราชบัญญัติควบคุมการฆ่าสัตว์เพื่อการจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ. 2559 อีกทั้งยังพบการผลิตวัตถุดิบชิ้นส่วนเครื่องในโค ชิ้นส่วนเครื่องในสุกร มีการใช้สารเคมีในกระบวนการผลิต ประกอบด้วย ฟอร์มาลิน โซดาไฟ และไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์

พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้ทำการยึดอายัดของกลางชิ้นส่วนเนื้อ เครื่องในสุกร และโค ที่อยู่ในสถานประกอบการและในตู้แช่เย็นคอนเทเนอร์ จำนวนกว่า 25,000 กิโลกรัม นอกจากนี้ได้ยึดอายัดของกลางสารเคมีและแกนลอนบรรจุสารฟอร์มาลิน ขนาด 25 ลิตร จำนวนกว่า 50 แกลลอน รวมถึงได้ยึดใบเสร็จกว่า 2,300 ใบ ที่มีหลักฐานการขายให้กับลูกค้าร้านหมูกระทะ และร้านอาหารอีสาน จำนวนกว่า 66 ราย และในส่วนของชิ้นส่วนสไบนาง ที่ผลิตแปรรูปนั้นแช่อยู่ในถังน้ำผสมสารฟอร์มาลิน พนักงานเจ้าหน้าที่จึงได้สั่งยึดอายัดไว้ และเก็บตัวอย่างเนื้อและเครื่องในสัตว์ นำส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ สำนักตรวจสอบคุณภาพสินค้าปศุสัตว์ กรมปศุสัตว์ เพื่อตรวจหาเชื้อโรคปนเปื้อนที่เป็นอันตรายและตรวจหาสารเคมีตกค้าง (ฟอร์มาลิน) โดยได้ให้เจ้าของกิจการห้ามโยกย้ายถ่ายเทของกลางที่อายัดไว้ และให้นำเอกสารที่เกี่ยวข้องมาแสดงภายใน 15 วัน

หากไม่สามารถนำมาแสดงได้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะดำเนินการทำลายด้วยการฝังหรือเผา และดำเนินคดีถึงที่สุด ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ ขยายผลในการตรวจสอบสถานประกอบการในลักษณะเดียวกันนี้ และหากพบการกระทำผิดให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาดต่อไปด้วย ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสหรือข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแจ้งได้ที่แอพพลิเคชั่น DLD 4.0 หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 06-3225-6888 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง.