เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่โรงเรียนวัดหัวกระบือ ต่อเนื่อง ซอยเทียนทะเล 19 แยก 2-2 แขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กทม. โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมหารือรับฟังปัญหากับเจ้าหน้าที่ที่สำนักงานเขตบางขุนเทียน ในกิจกรรมผู้ว่าฯ สัญจร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. พร้อมด้วยคณะทำงานและเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเขตบางขุนเทียน ได้ร่วมกันเดินเท้าตรวจเยี่ยม พูดคุย รับฟังปัญหาจากชาวบ้านในชุมชนวัดหัวกระบือและซอยเทียนทะเล19

สำหรับจุดแรกนั้น นายชัชชาติ และคณะทำงานได้ลงพื้นที่สำรวจหอพักคุณครูภายในโรงเรียนวัดหัวกระบือ โดยพบว่าปัญหาหลักจะเป็นเรื่องที่พักอาศัยหรือบ้านพักครู ซึ่งมีจำนวนไม่เพียงพอต่อบุคลากรและยังมีน้ำท่วมขัง เนื่องจากน้ำทะเลหนุน โดยนายชัชชาติได้พูดคุยกับผู้บริหารโรงเรียน และกล่าวอีกว่า เนื่องจากคุณครูหลายคนภูมิลำเนาอยู่ที่ต่างจังหวัดและเงินเดือนน้อย จึงเป็นเหตุให้ครูหลายๆท่านโอนย้ายกลับถิ่นเพราะค่าครองชีพใน กทม. มีราคาสูง เเต่เดี๋ยวจะช่วยพิจารณาดูให้อีกทางหนึ่ง เพราะ กทม. ก็พอมีที่ดิน อย่างน้อยเพื่อให้เหล่าคุณครูได้มีขวัญกำลังใจสอนเด็ก ไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องที่อยู่อาศัย

ต่อมาเวลา 14.30 น. นายชัชชาติ ได้ร่วมเดินเท้าลงพื้นที่ออกจากโรงเรียนวัดหัวกระบือไปต่อยังชุมชนในซอยเทียนทะเล 19 โดยระหว่างทางได้มีการพูดคุยทักทายชาวบ้าน และรับฟังปัญหากรณีน้ำทะเลหนุนจนท่วมขังถนนในซอยรวมถึงบางแห่งมีน้ำท่วมเข้าภายในบ้านพัก เพราะน้ำจะผุดออกจากทั้งทางท่อระบายน้ำและคลองในชุมชน โดยเฉพาะช่วงเวลา 15.00 น. เป็นต้นไป ชาวบ้านล้วนให้ข้อมูลกับนายชัชชาติว่าน้ำมักจะหนุนท่วมขึ้นมาเสมอกับพื้นผิวถนน บางครั้งท่วมสูงถึงหัวเข่า ทำให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ภายในซอยเทียนทะเลประสบปัญหาการสัญจรเป็นอย่างมาก อีกทั้งรถจักรยานยนต์ที่ใช้สัญจรก็ต้องเปลี่ยนลูกปืนบ่อยครั้ง เป็นการเพิ่มภาระเรื่องค่าใช้จ่ายเข้ามา จึงฝากผู้ว่าฯ กทม. ในการช่วยบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องน้ำท่วมในระยะยาว และในระยะเร่งด่วน

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวยังรายงานอีกว่า ในระหว่างที่นายชัชชาติเดินเท้ารับฟังปัญหาในซอยเทียนทะเล 19 นั้น เมื่อมาถึงบริเวณซอยเทียนทะเล 19 แยก 2-2 ได้มีกลุ่มชาวบ้าน แทนตัวเองว่า “ชาวชุมชนวัดหัวกระบือ” จำนวนหลายสิบคนมายืนออแน่นรอต้อนรับการมาของผู้ว่าฯกทม. เพื่อร้องเรียนปัญหาน้ำท่วม ความเดือดร้อนที่ได้รับ โดยมีทั้งการถือป้ายระบุข้อความ “เทียนทะเล 19 แยก 2 น้ำท่วมมานานปี วอนผู้ว่าเร่งแก้ไข ชาวบ้านเดือดร้อนมานานนับปี” และ”น้ำท่วมจนรถรับจ้างไม่สามารถเข้ามาส่งผู้โดยสารได้ ชาวบ้านเดือดร้อนมาก” เป็นต้น รวมทั้งยังมีตัวแทนชุมชนยื่นหนังสือ พร้อมมอบกระเช้าเครื่องดื่มบำรุงสุขภาพ และพวงมาลัยสีสันสวยงามให้นายชัชชาติ และเปิดเผยกับนายชัชชาติ ว่า “มาเพื่อสะท้อนความเดือดร้อนให้ผู้ว่าฯชัชชาติ เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมเรื้อรัง และอยากให้ยกถนนให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วม อีกทั้งยังดีใจที่ผู้ว่าฯชัชชาติ กลับมาเยือน และที่สำคัญ ผู้ว่าฯชัชชาติ ยังเป็นผู้ว่าฯกทม.เพียงคนเดียวที่มีการลงพื้นที่คอยรับฟังปัญหากับชาวบ้าน ไม่เคยมีผู้ว่าฯกทม. คนไหนทำแบบนี้มาก่อน”

นายชัชชาติ เปิดเผยถึงแนวทางป้องกันน้ำท่วมในชุมชนซอยเทียนทะเล 19 ว่า วิธีการแก้ปัญหาที่รวดเร็วและเป็นการแก้ที่ต้นเหตุ คือ ต้องไปทำประตูกั้นน้ำที่คลอง เพราะน้ำทะเลมีการขึ้นลง และน้ำในคลองก็มีการขึ้นลงเช่นเดียวกัน น้ำก็จะย้อนขึ้นมา แต่ถ้าเราไปทำประตูกั้นน้ำไว้ มันจะช่วยป้องกันไม่ให้น้ำย้อนขึ้นมา เราต้องเน้นกั้นน้ำที่ต้นทาง เพื่อไม่ให้เข้ามาท่วมบนพื้นผิวถนนด้วย คงต้องนำไปพิจารณาจัดทำแนวทางต่อไป เพราะการจะยกพื้นผิวถนนอย่างเดียวอาจจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างยั่งยืน

จากนั้นเวลา 15.30 น. ภายหลังจากที่นายชัชชาติและคณะทำงานร่วมกันลงพื้นที่ที่ชุมชนวัดหัวกระบือและซอยเทียนทะเล 19 แยก 2 เสร็จสิ้น จึงได้เดินทางไปสำรวจการกัดเซาะชายฝั่งทะเลบางขุนเทียน โดยได้ร่วมปั่นจักรยาน ใช้สะพานรักษ์ทะเลบางขุนเทียน เพื่อมุ่งหน้าไปยังศูนย์เรียนรู้ป่าชายเลนบางขุนเทียน และได้รับฟังปัญหา ทราบว่าบริเวณแนวชายฝั่งป้องกันการกัดเซาะ ได้มีการใช้เสาเข็ม หรือเสาไฟฟ้า ที่ได้รับการสนับสนุนจากการไฟฟ้าฯ ซึ่งชาวบ้านยอมรับได้ ส่วนถ้าใช้เป็นไม้ไผ่ ความทนทานจะยังสู้ไม่ได้ เพราะอยู่ปักได้เพียง 3-5 ปี และในเดือนธันวาคมนี้ จะมีการปรับเสาไฟฟ้าเพิ่ม ความยาวที่ 52 เมตร ใช้เสาไฟฟ้าจำนวน 350 ต้น ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของผู้รับจ้าง ทั้งนี้นายชัชชาติ ได้รับฟังและกล่าวสั้นๆว่า ดูแล้วอาจจะไม่สวย มีความกระโดกกระเดกหน่อยๆ แต่ไม่เป็นไร พร้อมทั้งยังชวนประชาชนมาเที่ยวชมศูนย์เรียนรู้แห่งนี้ได้ ระยะทางไม่ไกลมาก และอากาศดี เหมาะแก่การมาท่องเที่ยวกับครอบครัว เพื่อนฝูง คนรัก สามารถปั่นจักรยาน ออกกำลังกายและแวะทานอาหารทะเลได้อีกด้วย.