สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ว่า บริษัททวิตเตอร์เตรียมกลับมาให้บริการ “ทวิตเตอร์ บลู” หรือ “บลู เซอร์วิส” ที่เป็นการยืนยันตัวตนด้วย “เครื่องหมายถูกสีฟ้า” ตั้งแต่วันจันทร์ที่ 12 ธ.ค.นี้ หลังระงับไปนานประมาณ 1 เดือน เนื่องจากกลับกลายเป็นว่า การจ่ายเงินเพื่อซื้อเครื่องหมายนี้ ทำให้จำนวนบัญชีแอบอ้างของบุคคลมีชื่อเสียง และองค์กรขนาดใหญ่ เพิ่มขึ้นอย่างมากจนสร้างความสับสนให้กับทุกฝ่าย


อย่างไรก็ตาม สำหรับการเตรียมกลับมารับสมัคร ทวิตเตอร์ บลู ในรอบนี้ อัตราค่าบริการรายเดือนยังคงอยู่ที่ 8 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 277.38 บาท ) หากเป็นการทวีตข้อความและภาพ และคลิปที่มีความละเอียดไม่เกิน 1080 พี ผ่านเว็บไซต์ของทวิตเตอร์ แต่อัตราค่าบริการจะเพิ่มเป็น 11 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ( ราว 381.39 บาท ) สำหรับผู้ใช้บริการระบบปฏิบัติการ “ไอโอเอส” ของแอปเปิล


จนถึงตอนนี้ ยังคงไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากทวิตเตอร์ว่า เพราะเหตุใดผู้ใช้บริการทวิตเตอร์ บลู บนระบบไอโอเอส “ต้องจ่ายแพงกว่า” ระบบปฏิบัติการอื่น แต่การวิเคราะห์จากหลายกระแสระบุไปในทางเดียวกันว่า เป็นการ “ชดเชย” ค่าธรรมเนียมที่แอปเปิลเรียกเก็บ จากผู้ที่ทำธุรกรรมบนแอพพลิเคชั่น สโตร์


ทั้งนี้ทั้งนั้น นายอีลอน มัสก์ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร ( ซีอีโอ ) ของทวิตเตอร์ กล่าวหาบริษัทแอปเปิล พยายามบล็อกการให้บริการของทวิตเตอร์ บนแอพพลิเคชั่นสโตร์ “เนื่องจากแอปเปิลกดดันให้ทวิตเตอร์ปฏิบัติตาม เงื่อนไขเกี่ยวกับการตรวจสอบเนื้อหา” พร้อมทั้งตำหนิแอปเปิลขัดขวาง “เสรีภาพในการแสดงความเห็น” และลดการโฆษณาบนทวิตเตอร์


ในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลจากเดอะ วอชิงตัน โพสต์ ระบุว่า แอปเปิลคือผู้ซื้อโฆษณารายใหญ่ที่สุดของทวิตเตอร์ ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ด้วยมูลค่า 48 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว1,664.26 ล้านบาท ) และคิดเป็นมากกว่า 4% ของรายได้ทวิตเตอร์ตลอดช่วงเวลาดังกล่าว แต่ระหว่างวันที่ 10-16 พ.ย. ที่ผ่านมา แอปเปิลซื้อโฆษณาบนทวิตเตอร์ 131,600 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 4.56 ล้านบาท ) ลดลงจากสถิติ 220,800 ดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 7.65 ล้านบาท ) ระหว่างวันที่ 16-22 ต.ค. ที่ผ่านมา.

เครดิตภาพ : GETTY IMAGES