ช่วงฤดูหนาวเป็นห้วงเวลาที่โลกจะเอียงหันขั้วโลกเหนือออกห่างจากดวงอาทิตย์ จึงทำให้ภาคใต้ของไทยมีโอกาสได้เห็นพระอาทิตย์ขึ้นก่อนทางภาคที่อยู่เหนือขึ้นไป ด้วยมุมที่เอียงไป 23 องศา ซึ่งถือว่าเอียงมากที่สุดในรอบปี ที่ละติจูด 6.24 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.09 องศาตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ของบ้านบาตา อ.ตากใบ จ.นราธิวาส เป็นจุดแรกที่จะเห็นแสงแรกของปีก่อนใคร

บางคนมีความสุขกับการนั่งมองพระอาทิตย์ที่ค่อย ๆ ขยับลาลับขอบฟ้า แต่บางคนชอบที่จะตื่นตั้งแต่ไก่ยังไม่ขันออกมาเฝ้ารอคอยเวลาที่แสงแรกของวันจะส่องมาทักทาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเช้ารุ่งขึ้นของวันขึ้นปีใหม่ ห้วงเวลาที่ผู้คนกำลังก้าวต่อไปกับวันที่เริ่มนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในรอบปี โดยมีชายหาดที่ทอดขนานไปกับแม่นํ้าตากใบ โดยมีอีกฝั่งเป็นทะเลอ่าวไทยอย่าง “หาดเกาะยาว” เป็นหนึ่งในสถานที่เหมาะสำหรับช่วงเวลาที่ว่า

แม้จะเรียกว่า “เกาะยาว” แต่รูปลักษณะทางภูมิศาสตร์ของที่นี่กับดูคล้ายกับแนวเนินทรายที่ทอดตัวยาวมากกว่า เกาะที่มีความยาวราว 9 กิโลเมตร มีทิวมะพร้าวเรียงรายเป็นแนวยาว หนึ่งในอาชีพของผู้คนที่อาศัยอยู่ นอกเหนือไปจากการทำประมง โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอตากใบราว 3 กิโลเมตร มี “สะพานคอยร้อยปี” สะพานไม้ยาว 345 เมตร เป็นเส้นทางเชื่อมต่อ

เหตุผลที่ได้ชื่อสะพานนั้น มาจากการรอคอยอันแสนยาวนานของชาวบ้าน กว่าที่จะได้สะพานไม้มาเชื่อมต่อระหว่างเกาะยาวกับฝั่งที่ว่าการอำเภอแทนการใช้เรือเดินทาง วันนี้นอกจากจะมีสะพานไม้ดั้งเดิมแล้ว ยังมีสะพานปูนที่ทอดตัวขนานกันเป็นเส้นทางเชื่อมต่อที่มั่นคงกว่าเดิมด้วย การเดินทางของชาวบ้านจึงสะดวกขึ้น เช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่จะมาเยือนเกาะยาวได้ง่ายขึ้นด้วยเช่นกัน ในช่วงบ่ายถึงเย็นคนตากใบเองและคนพื้นที่ใกล้เคียงจึงมักมาจับจองมุมส่วนตัวใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

สำหรับคนที่มาเฝ้ารออาบแสงแรกแห่งปีแล้ว แนะนำให้ไปทำบุญช่วงวันปีใหม่ต่อที่ “วัดชลธาราสิงเห” ที่อยู่ไม่ไกลริมฝั่งแม่นํ้าตากใบ เดิมชื่อว่า “วัดท่าพรุ” หรือ “วัดเจ๊ะเห” ตามชื่อหมู่บ้าน ซึ่งเป็นที่ตั้งแรกเริ่มก่อตั้งวัด ท่านพระครูโอภาส พุทธคุณ (พุด) ไปขอที่ดินจากพระยากลันตันเพื่อที่จะสร้างวัด เมื่อปี พ.ศ. 2416 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 4 สมัยนั้นดินแดนตากใบยังเป็นของรัฐกลันตัน ต่อมาวัดนี้ถูกเรียกอีกชื่อว่า “วัดพิทักษ์ แผ่นดินไทย” ชื่อที่ได้มาจากช่วงที่มีกรณีพิพาทแบ่งแยกดินแดนระหว่างไทย หรือสยามในสมัยรัชกาลที่ 5 พ.ศ. 2452 กับมลายู หรือมาเลเซียในวันนี้ ซึ่งเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษในขณะนั้น ฝ่ายสยามได้มีการยกเอาพระพุทธศาสนา วัด และศิลปะในวัด เป็นเครื่องต่อรองการแบ่งปันเขตแดน อังกฤษจึงยอมรับเหตุผล โดยให้นำเอาแม่นํ้าโก-ลก ตรงบริเวณที่ไหลผ่านเมืองตากใบ เป็นเส้นแบ่งเขตแดน

วัดชลธาราสิงเห มีความโดดเด่นของสถาปัตยกรรมที่ผสมผสานความเป็นพุทธ มุสลิม และจีนเข้าด้วยกัน ภายในมีบรรยากาศเงียบสงบและมีลานกว้างริมแม่นํ้า พระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังเขียนโดยพระภิกษุชาวสงขลา เป็นพุทธประวัติที่สอดแทรกภาพชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในสมัยนั้น และยังเป็นที่ประดิษฐานพระประธานปิดทองทั้งองค์ ทำให้ไม่เห็นลักษณะเดิมที่พระโอษฐ์เป็นสีแดง พระเกศาเป็นสีดำ ประดิษฐานอยู่บนบุษบกทรงสอบ สูง 1.5 เมตร จากลักษณะบุษบก สันนิษฐานว่า เป็นพระมอญ ตามผนังประดับด้วยเครื่องถ้วยสังคโลกจากประเทศจีน นอกจากนี้ยังมีวิหารประดิษฐานพระนอน พระพุทธรูปปูนปั้นประดับด้วยกระจกสีทองโดยประทับอยู่บนนาค ประดิษฐานอยู่ในคูหาที่ประดับด้วยเครื่องถ้วยยุโรป จีน และญี่ปุ่น

ห่างจากวัดไปไม่ไกลคือแหล่งผลิต “ปลากุเลาเค็มตากใบ” ซึ่งเป็นที่กล่าวถึงเมื่อเป็นหนึ่งในวัตถุดิบที่ได้ขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค 2022 ที่ผ่านมา ราชาแห่งปลาเค็มนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สินค้า GI ของจังหวัดนราธิวาส มีกรรมวิธีในการผลิต ซึ่งเป็นภูมิปัญญาที่สืบทอดมาช้านาน การถนอมอาหารแบบดั้งเดิมที่ชาวจีนโพ้นทะเล ซึ่งอพยพมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ตากใบลองนำปลากุเลามาทำ แล้วพบว่ามีรสชาติอร่อย ใครได้ลิ้มลองก็ติดใจ จึงทำให้ปลากุเลาตากใบเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ

ไม่ใช่เพียงแค่ปลากุเลาที่มีขนาดใหญ่กว่าที่จับได้ในพื้นที่อื่น ๆ ของไทย แต่ยังรวมถึงสภาพแวดล้อมของท้องทะเลในแถบนี้ที่มีสารอาหารอันทรงคุณค่า สำหรับปลากุเลาที่มาจากแม่นํ้าสุไหงโก-ลกด้วย ปลาสดที่เพิ่งจับได้สด ๆ จะถูกนำมาผ่านกรรมวิธีในการทำแทบจะทันทีที่ขึ้นจากทะเล ขอดเกล็ดควักไส้เสร็จแล้วจึงนำเกลือหวานจากปัตตานี ที่มีความเค็มน้อยกว่าเกลือที่อื่นมาหมัก ขณะที่เคล็ดลับซึ่งทำให้เนื้อปลากุเลาตากใบเนียนละเอียดก็คือ การนวดด้วยขวดแก้วระหว่างการตากนั่นเอง

อยากรู้ว่ารสชาติเค็มแบบนวล ๆ มีความมันและออกหวานนิด ๆ ที่สำคัญคือต้องมีกลิ่นหอมเป็นอย่างไร ต้องลองซื้อกลับมาทอดชิมที่บ้านสักตัว แต่หากไปในช่วงฤดูมรสุมที่ออกทะเลไม่ได้ ไม่มีแดดให้ตาก อาจจะพลาดโอกาสได้ แม้จะไม่ได้หิ้วกลับมาทันทีแต่ยังสามารถสั่งจองและให้ส่งตามมาถึงบ้านได้ บอกเลยว่าแม้กรรมวิธีจะใกล้เคียงกันแต่รสชาติของปลากุเลาตากใบแต่ละร้านก็ยังมีความต่างอยู่เล็กน้อย ที่แน่ ๆ คือ อร่อยทุกร้าน

เปลี่ยนบรรยากาศจากการตามล่าหาปลาเค็มมาทดลองปั้นดินที่ “เซรามิก ดินนรา” บ้านไม้เก่าแก่อายุกว่า 100 ปี วันนี้แปลงร่างเป็นสถานที่ผลิตและจำหน่ายเซรามิก รวมถึงคาเฟ่ที่ผสมผสานศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่นไว้อย่างลงตัว ดินขาวของนราธิวาสเป็นวัตถุดิบหลักที่นำมาปั้นเป็นตุ๊กตาดินเผา ตะเกียง ถ้วย ชาม จะเลือกลงมือตั้งแต่เริ่มปั้นดินจากก้อนดินเลย หรือจะขอแค่เพนท์สีสันลงบนตุ๊กตาหรือถ้วยที่ปั้นไว้เสร็จแล้ว เลือกได้ตามความพอใจ หรือจะเปลี่ยนแนวไปลองทำผ้าบาติกที่นี่ก็มีให้ได้ลงมือทำด้วย รับรองว่าได้ของชิ้นเดียวในโลกกลับบ้านถ้วนหน้าทุกคน ไม่ต้องกลัวว่าจะทำไม่ได้ทำไม่เป็น เพราะที่นี่เจ้าของร้านจะลงมือสอนและช่วยประคองจนเป็นรูปเป็นร่างด้วยตัวเอง

ได้ภาพถูกใจ ได้ของฝากครบแล้ว อยากหาของอร่อยย่านตากใบ ห้ามพลาด “สวนอาหารนัดพบยูงทอง” อดีตร้านอาหารยูงทองที่ได้คำว่า “นัดพบ” มาปะด้านหน้าเพราะที่นี่มักจะเป็นสถานที่นัดพบของผู้คน เรียกไปเรียกมาจึงกลายเป็นชื่อนัดพบยูงทองอย่างที่ได้ยินในปัจจุบัน ที่นี่เป็นหนึ่งในร้านอาหารเก่าแก่ของอำเภอ เป็นร้านที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ มาเสวยพระกระยาหารถึง 4 ครั้ง เมนูห้ามพลาดได้แก่ ยำมะม่วงเบา กุ้งต้มกะทิ ยำปลากุเลาเค็ม แกงส้ม ปลากะพงผัดเผ็ด

ใครมีโอกาสได้ไปชมแสงแรกแห่งปี 2566 ที่ตากใบ หรือในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ นราธิวาส ยะลา ปัตตานี จะถ่ายรูปกับสถานที่ท่องเที่ยวใด ๆ ใน 3 จังหวัดในวันขึ้นปีใหม่แล้วโพสต์ภาพที่โพสต์กิจกรรมปีใหม่ Facebook : TAT Narathiwat ททท.สำนักงานนราธิวาส พร้อมติดแฮชแท็ก #Amazingthailand #หรอยแรงแหล่งใต้ #tatnarathiwat #แสงแรก 2566 จะได้รับหมวกฟรีทันที 10 คนแรก ร่วมกิจกรรมได้ตั้งแต่ 1-10 มกราคม 2566 ประกาศผลรางวัล 12 มกราคม 2566 ทางเฟซบุ๊กแฟนเพจ ไม่ต้องกังวลว่าจะต้องเสียค่ารถวนกลับไปรับของรางวัล เพราะทาง ททท.สำนักงานนราธิวาส จะจัดส่งให้ถึงที่บ้าน.

อธิชา ชื่นใจ