จากกรณีที่ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ หรือ “ทนายตั้ม” ได้โพสต์เฟซบุ๊ก เล่าเรื่องราวที่ผู้เสียหายขอคำปรึกษาทางกฎหมายในการฟ้องชู้ หลังพบภรรยาไปถ่ายภาพเปลือยคู่อดีตรองนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังมีหลักฐานเป็นแชตที่ทั้งคู่ได้คุยกันด้วยคำสุดสยิว จนเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในโลกออนไลน์ พร้อมกับตามหาว่า “รองนายกรัฐมนตรี” ดังกล่าวนั้นคือใคร?

-‘ชลน่าน’ ชี้ปมอดีตรองนายกฯ เล่นชู้แค่คาดเดา ลั่น ‘ยงยุทธ’ ไม่ได้เป็นสมาชิก ‘พท.’

-‘ยงยุทธ’ โต้ลั่นไม่ใช่รองนายกฯเล่นชู้เมียชาวบ้าน จี้เพื่อไทยขับ ‘ทนายตั้ม’ พ้นพรรค!

โดยหนึ่งในผู้ที่ชาวเน็ตจับตามองนั่นคือ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” จนทำให้ชื่อของเขา กลายเป็นที่พูดถึงในโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็ว

สำหรับ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” เกิดเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2485 ที่ อ.เมืองสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่สองในจำนวนพี่น้อง 7 คน โดยหนึ่งในนั้นคือ “ธวัช วิชัยดิษฐ” เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (ชวน หลีกภัย) และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์หลายสมัย (ถึงแก่อนิจกรรมจากอุบัติเหตุเครื่องบินตก เมื่อปลายปี พ.ศ. 2541)

การศึกษา
-ชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนมานิตานุเคราะห์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
-ประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลฯ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
-มัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนสิชลคุณาธารวิทยา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช
-มัธยมศึกษาปีที่ 2-6 โรงเรียนอินนทรพิชัย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
-มัธยมศึกษาปีที่ 7-8 โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
-ปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2507
-ปริญญาโท รัฐศาสตรมหาบัณฑิต (เกียรตินิยม) จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2513
-ประกาศนียบัตรการปกครองระดับท้องถิ่น วิทยาลัยการปกครอง ประเทศญี่ปุ่น เมื่อปี พ.ศ. 2517
-ประกาศนียบัตรหลักสูตรนักปกครองระดับสูง วิทยาลัยการปกครอง เมื่อปี พ.ศ. 2522
-ประกาศนียบัตรวางแผนและจัดรูปเมือง สหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2528

ชีวิตราชการ
“ยงยุทธ” เริ่มรับราชการเมื่อปี พ.ศ. 2509 ในตำแหน่งปลัดอำเภอชั้นตรี ที่อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ต่อมาได้โอนไปรับตำแหน่ง ปลัดเทศบาลเมืองภูเก็ต เมื่อปี พ.ศ. 2510 จากนั้นย้ายไปดำรงตำแหน่ง ปลัดเทศบาลในหลายจังหวัด สูงสุดเป็นที่ปลัดเทศบาลชั้นพิเศษ จากนั้นในปี พ.ศ. 2533 ก็ขึ้นเป็นปลัดจังหวัดสงขลาเป็นแห่งแรก หลังจากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2534 ย้ายไปเป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง

ต่อจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2535 ก็กลับไปดำรงตำแหน่ง รองผู้ว่าราชการ ที่จังหวัดสงขลาอีกครั้ง และเมื่อปี พ.ศ. 2536 ก็ขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ว่าราชการ ที่จังหวัดตรังเป็นแห่งแรก แล้วย้ายไปที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (นักปกครอง ระดับ 10) แล้วเข้าสู่ส่วนกลาง ขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อปี พ.ศ. 2541 เป็นอธิบดีกรมที่ดิน เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2543 จากนั้นกลับมาเป็นรองปลัดกระทรวงอีกครั้ง ในปี พ.ศ. 2544 แล้วขึ้นเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2545 เป็นเวลา 8 เดือน จนกระทั่งเกษียณอายุราชการในปีเดียวกัน

งานการเมือง
เมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ยงยุทธเริ่มเข้าสู่งานการเมือง ด้วยการเป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำกระทรวงสาธารณสุข (สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์) เมื่อวันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2546 และวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2547
จากนั้นเป็นประธานกรรมการ การไฟฟ้านครหลวง เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2548
ประธานกรรมการ กำกับดูแลกิจการไฟฟ้า เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2548
ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2551
และที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (พลตำรวจเอก โกวิท วัฒนะ) เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ต่อมาในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2551 พรรคเพื่อไทยจัดประชุมใหญ่วิสามัญ ครั้งที่ 4/2551 ลงมติเลือกยงยุทธ ซึ่งขณะนั้นรักษาการในตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค ขึ้นเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โดยเมื่อวันที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2553 เขาประกาศลาออกจากตำแหน่งนี้ โดยให้เหตุผลเพื่อปรับโครงสร้างพรรค ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป แต่ภายหลังสมาชิกพรรคลงคะแนนให้ยงยุทธกลับมาดำรงตำแหน่งอีกครั้ง

ยงยุทธได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในประเภทบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งเป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในเวลาต่อมา ระหว่างดำรงตำแหน่งอยู่นั้น เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานเลื่อนยศแก่ยงยุทธจาก “นายกองเอก” ให้เป็นที่ “นายกองใหญ่” ประจำกองอาสารักษาดินแดน

เมื่อวันที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2555 ยงยุทธประกาศลาออกจากตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เนื่องจาก อ.ก.พ.กระทรวงมหาดไทย ลงมติให้ไล่ออกจากราชการ จึงมีผลกระทบต่อคุณสมบัติทางการเมืองส่วนบุคคลของยงยุทธ ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาล ทั้งอาจส่งผลทางการเมืองต่อพรรคเพื่อไทย โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 30 กันยายน

สนามกอล์ฟอัลไพน์อันลือลั่น!
เมื่อวันที่ 29 ส.ค. พ.ศ. 2560 ชื่อของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” ได้ถูกสังคมไทยจับตามองเป็อย่างมาก ภายหลังจากที่ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ นัดฟังคำพิพากษาคดีประวัติศาสตร์ที่ดิน “สนามกอล์ฟอัลไพน์” สืบเนื่องจากที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เคยชี้มูลความผิดเมื่อปี 2555 กรณีถูกกล่าวหาว่า เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินให้ยกเลิกโฉนดที่ดินที่จดทะเบียนในนาม “สนามกอล์ฟอัลไพน์” อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยมิชอบ สมัยเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

ภายหลังคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดดังกล่าว คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทย มีมติลงโทษทางวินัยแก่นายยงยุทธด้วย ส่งผลให้นายยงยุทธต้องลาออกจากเก้าอี้รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย ในขณะนั้น

กระทั่งเดือน ต.ค. 2559 คณะกรรมการ ป.ป.ช. หอบแฟ้มสำนวนยื่นฟ้องคดีดังกล่าวต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ใช้เวลาไต่สวนเกือบปี กระทั่งปลายเดือน ส.ค. 2560 ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าวแล้ว

ชาวเน็ตจับตา!
และในปี 2566 ชื่อของ “ยงยุทธ วิชัยดิษฐ” กลับมาเป็นที่สนใจในโลกออนไลน์ขึ้นอีกครั้ง เมื่อมีชาวเน็ตจับตา พร้อมเชื่อมโยงว่า เขาคือ “รองนายกรัฐมตรี” ผู้มีเอี่ยวชู้สาวกับเมียชาวบ้านหรือไม่?

อย่างไรก็ตาม ภายหลัง “ยงยุทธ” ได้ออกมาปฏิเสธแล้วว่า เรื่องราวทั้งหมด ไม่ใช่ตัวเขาเองอีกด้วย..