สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานถึงผลงานวิจัยที่ได้รับการตรวจสอบจากคณะนักวิทยาศาสตร์ในยุโรป ซึ่งตีพิมพ์เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2566 ในวารสาร Frontiers in Environmental Science ซึ่งระบุว่า ปุ๋ยที่ผลิตจากอุจจาระและปัสสาวะของมนุษย์นั้น มีความปลอดภัย สามารถใช้บำรุงพืชผลทางการเกษตรได้ เนื่องจากมีการปนเปื้อนของยารักษาโรค รวมถึงสารเคมีอื่น ๆ ไปสู่อาหารได้ในปริมาณที่น้อยมาก
เนื่องจากสถานการณ์สำหรับเกษตรกรในยุโรปและทั่วโลกในตอนนี้ กำลังตกที่นั่งลำบาก เมื่อต้องเผชิญหน้ากับราคาปุ๋ยที่สูงขึ้น อันเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย คณะผู้บริหารของสหภาพยุโรป จึงให้ความสนใจการพัฒนาและผลิตปุ๋ยคอก ซึ่งผลิตจากของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์
ทีมงานวิจัยได้เริ่มกระบวนการคัดกรองสารเคมีจำนวน 310 ชนิด ในของเสียจากร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีตั้งแต่ยารักษาโรคไปจนถึงสารตกค้างจากยาฆ่าแมลง และพบว่ามีเพียงจำนวน 6.5% ของกลุ่มนี้ ที่มีปริมาณเกินขีดจำกัดและมีความเข้มข้นไม่มากนัก
ในรายงานสรุปไว้ว่า ความเสี่ยงที่จะมีสารประกอบทางเคมีจากยาชนิดต่าง ๆ และสารเคมีอื่น ๆ ปนเปื้อนสู่ตัวพืชผลที่ใช้เป็นอาหาร เนื่องจากการใช้ปุ๋ยคอกที่ผลิตจากมูลคนนั้น อยู่ในระดับที่ต่ำมาก และไม่ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพผู้บริโภค
ทีมวิจัยได้ตรวจสอบสารเคมีในส่วนที่ใช้รับประทานของหัวกะหล่ำปลี และพบสารประกอบของยาแก้ปวดไอบูโพรเฟนและยากันชัก แต่ก็มีความเจือจางอย่างมาก ซึ่งหมายถึงว่า ผู้บริโภคจะต้องรับประทานกะหล่ำปลีมากกว่าครึ่งล้านหัว จึงจะได้รับสารเคมีเหล่านี้ในระดับที่เทียบเท่ากับยากันชักคาร์บามาซิปีน 1 เม็ด
ราคาปุ๋ยที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้เกษตรกรในยุโรปส่วนหนึ่ง หันไปหาปุ๋ยที่ผลิตจากมูลสัตว์และมนุษย์ เพื่อใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี แต่กลับพบว่า ปุ๋ยคอกไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าปุ๋ยเคมี อย่างไรก็ตาม รายงานผลการวิจัยนี้กลับชี้ว่า ปุ๋ยบางชนิดที่ผลิตจากของเสียจากร่างกายมนุษย์ สามารถให้สารอาหารและมีประสิทธิภาพเทียบเท่าปุ๋ยเคมีสูตรต่าง ๆ
หัวใจสำคัญของการใช้ปุ๋ยคอกก็คือ ต้องจัดเตรียมอย่างถูกวิธี และมีการควบคุมปริมาณที่เหมาะสม โดยในรายงานวิจัยครั้งนี้ระบุว่า ปุ๋ยคอกที่ผลิตจากปัสสาวะและอุจจาระคนเหล่านี้ สามารถใช้ทดแทนปุ๋ยเคมีในเยอรมนีได้ ในสัดส่วนราว 25% ของปริมาณการใช้ปุ๋ยทั้งหมด
แหล่งข่าว : Bloomberg Businessweek
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES