เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 23 ส.ค. ที่วัดวารีวงค์ หมู่ 2 ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร จ.สุราษฎร์ธานี นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เดินทางตรวจเยี่ยมพื้นที่นำร่องศึกษาและวิจัยการปลูกพืชกระท่อมต้นแบบประเทศของสำนักงาน ป.ป.ส. ภายใต้ชื่อ “น้ำพุโมเดล” เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้พืชกระท่อมอย่างถูกกฎหมาย หลังวุฒิสภาผ่านร่าง พ.ร.บ.ปลดล็อกพืชกระท่อม โดยมีนายวิชวุทย์ จินโต ผวจ.สุราษฎร์ธานี นายพีระ กาญจนพงศ์ ผอ.ป.ป.ส.ภาค 8 ให้การต้อนรับ พร้อมมอบใบประกาศเกียรติคุณผู้สนับสนุนพื้นที่นำร่องในการควบคุมพืชกระท่อม โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน 3 จุด 123 คน และปลูกต้นฟ้าทะลายโจรที่บริเวณศาลาหมู่บ้าน หมู่ 2 ต.น้ำพุ โครงการปลูกฟ้าทะลายโจร 12 ล้านต้น “ปลูกเดือนแม่ เก็บเดือนพ่อ” ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า ภายหลังเสร็จพิธี พิธีกรได้มีการเชิญ นายสมศักดิ์ ขึันเปิดงาน โดยใช้คำแทนชื่อนายสมศักดิ์ว่า บิดากระท่อมไทยแลนด์ ขึ้นให้โอวาท

นายสมศักดิ์ กล่าวบนเวทีว่า ดีใจกับพี่น้องประชาชนชาว ต.น้ำพุ อ.บ้านนาสาร และพี่น้องชาวภาคใต้ ซึ่งวันพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) เราจะได้พืชกระท่อมเสรี เป็นความดีใจและความภาคภูมิใจที่ทำงานร่วมกันมาตลอดจนนำไปสู่การแก้กฎหมายปลดพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด ต้องยอมรับว่าเราต่อสู้กันมายาวนาน เฉพาะในช่วงที่กำนันสงคราม บัวทอง กำนันตำบลน้ำพุ ได้ริเริ่มเสนอแนวคิดต่อที่ประชุม ป.ป.ส.ที่ จ.สตูล เมื่อปี 2559 ถึงแนวคิดการนำพืชกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด โดยเสนอให้พื้นที่ ต.น้ำพุ เป็นพื้นที่อนุรักษ์ศึกษาวิจัยว่ากระท่อมมีประโยชน์ ซึ่งกฎหมายเปิดโอกาสให้ ตามมาตรา 58/1 58/2 ของ พ.ร.บ.ยาเสพติดปี 2522 สามารถปลูกเพื่อทำการศึกษาวิจัยได้และกำนันสงคราม คือบุคคลที่มีความตั้งใจทำงานในการเปิดเสรีพืชกระท่อมจนสำเร็จในวันนี้ ที่จะยกให้ตนเป็นบิดาแห่งกระท่อมไทยแลนด์น่าจะเป็นกำนันสงครามมากกว่าเพราะเป็นบุคคลที่ทุ่มเท และหลังจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องช่วยกันให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่ของไทย และมีเป้าหมายเข้าไปแบ่งสัดส่วนการตลาดกับประเทศมาเลเซีย และอินโดนีเซียให้ได้

นายสมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า หลังจากนี้เราต้องคิดต่อว่าถ้าจะให้กระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจจะต้องทำอย่างไร ต้องมาดูดีมานด์กับซัพพลายความต้องการตลาดและผลผลิตทำอย่างไรไม่ให้ราคาตก ในขณะนี้ราคากระท่อมไม่ควรต่ำกว่ากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งจะเป็นต้นทุนการผลิตที่จะสามารถแข่งขันกับประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียได้ จึงคิดว่าถ้าเราพิจารณากันดีๆ จะเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่สำคัญ และพรุ่งนี้ (24 ส.ค.) กระบวนการยุติธรรม จะต้องปล่อยผู้ต้องหาต้องขังที่กระทำผิดเกี่ยวกับพืชกระท่อม ทั่วประเทศ 12,430 คน เป็นผู้ถูกคุมขังคดี 1,038 คน ในชั้นอัยการที่จะต้องหมายจากศาลอีก 9,000 ราย และอยู่ในคดีของพนักงานสอบสวนอีก 2,400 คดี

นายสงคราม บัวทอง กำนัน ต.น้ำพุ กล่าวว่า นับแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ได้เสนอตัวอาสาศึกษาวิจัยกระท่อมและขอบคุณนายสมศักดิ์ เป็นผู้ที่เสนอให้แก้กฎหมายจากยาเสพติดในสภาฯ หลายครั้งและทำให้พืชกระท่อมเป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศต่อไป