จากกรณีข่าว “ตรีนุช เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ลงนามในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ ว่าด้วยการยกเลิกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการทรงผมของนักเรียน พ.ศ. 2563 และกำหนดแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการไว้ทรงผมของนักเรียนหรือนักศึกษาไว้อย่างกว้างๆ โดยให้แต่ละสถานศึกษา ไปใช้ดุลพินิจของตนในการออกระเบียบทรงผมแทน

ภายหลังจากประกาศได้ถูกรายงานไป งานนี้ทำโซเชียลต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขว้าง โดยหลายคนส่วนใหญ่มองว่า เป็นกฎที่ออกมา ไม่ตรงจุดกึ่งกลางของความถูกต้อง การให้บุคลากรแต่ละที่ใช้อำนาจได้นั้น มันเหมาะสมจริงแล้วหรือไม่ นอกจากนี้บางกลุ่มยังมองว่า ควรรับฟังความคิดเห็นจากเด็กๆ และปรับให้มีกฎกลางที่ชัดเจน น่าจะดีกว่าให้แต่ละสถานศึกษาทีออกกฎเอง อาทิ
“เท่ากับวนกลับที่เดิม ยกเลิกกฎไม่ได้ช่วยอะไรเด็ก แต่คือการให้ประโยชน์กับโรงเรียน ให้เข้มงวดกับทรงผมเด็กตามใจชอบยังไงก็ได้”
“ให้ รร. ออกกฎเองแล้วมี ศธ. ไว้ทำไม”
“เหมือนโยนปัญหาไปอยู่ที่แต่ละโรงเรียน ไม่จัดการให้สะเด็ดน้ำที่กระทรวงฯ”
“ไปพัฒนาหลักสูตรแทนหมกมุ่นทรงผมเถอะ ไหว้ล่ะ”
“สิทธิในทรงผมนักเรียนมันขึ้นอยู่กับนักเรียน ไม่ใช่ ผอ. ครู หรือ ผู้ปกครอง (3 คนที่ว่ามา ควรเปิดใจรับฟังตัวนักเรียน) เป็นหลักครับ”
“เหมือนเปิดช่องให้เกิดความเหลื่อมล้ำเรื่องระเบียบทรงผม รร.นี้ทำ รร.นี้ไม่ทำ ยกเลิกก็ยกเลิกให้เด็ดขาดดิ จะไปให้สิทธิ รร.อีกทำไม”

ทั้งนี้มีชาวเน็ตบางกลุ่มได้เสนอกฎใหม่ ซึ่งอยากให้มีการพิจารณาเพิ่ม โดยกล่าวว่า “ก่อนที่โรงเรียนจะออกกฎระเบียบเรื่องทรงผม ครูต้องตัดผมทรงอุบาทว์ให้เด็กดู เสียก่อน ทำไมทหาร ตำรวจ บังคับทรงผม แต่ของครูกลับไม่บังคับทรงผม คือกำหนดว่า ถ้าสอบติดครูที่ใดที่หนึ่ง ครูต้องตัดทรงเดียวกับนักเรียน คือ ครูผู้ชาย เกรียน ขาวสามด้าน ครูผู้หญิง สั้นเสมอหู ผมต้องสีดำ ห้ามแต่งหน้า ห้ามย้อม ห้ามตัดหน้าม้า ห้ามกระบัง ห้ามเจล น้ำมัน หากผมขาวให้ย้อมดำ ถ้าฝ่าฝืน ให้กลับบ้านสถานเดียว ไม่ให้เข้าสอน ไม่ให้เงินเดือน สิ้นปีไม่ให้โบนัสด้วย ดูทหารตำรวจ เป็นตัวอย่างสิ”

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวยังคงเป็นกระแสอย่างต่อเนื่อง และหลายคนยังคงให้ความสนใจมากในขณะนี้ จนล่าสุดแห่ติดแฮชแท็ก #เสรีทรงผม #ทรงผมนักเรียน อีกด้วย…