นางยุพา ทวีวัฒนะกิจบวร ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า ตามที่ วธ. ขับเคลื่อนงานตามโมเดลเศรษฐกิจใหม่ BCG รวมทั้งผลักดัน “Soft Power” ความเป็นไทยเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างรายได้และภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมสร้างสรรค์ที่มีศักยภาพ 5F โดยขับเคลื่อนงานเทศกาลประเพณีสู่ระดับโลก (Festival) ตลอดจนนโยบาย วธ. สนับสนุนส่งเสริมการยกระดับเทศกาลประเพณีของไทยสู่ระดับนานาชาติ จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานคัดเลือกเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 ซึ่งมีความโดดเด่นเพื่อเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน สร้างรายได้แก่ประชาชน ตลอดจนศิลปวัฒนธรรม ปราชญ์ชาวบ้าน ได้รับการเผยแพร่สู่สายตาชาวโลก

ปลัด วธ. เปิดเผยว่า สำหรับผลการคัดเลือกเทศกาลประเพณีเพื่อยกระดับไปสู่ระดับชาติและนานาชาติของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด เป็นที่ประจักษ์ จำนวน 16 เทศกาล/ประเพณี ดังนี้ 1. ประเพณีกตัญญูคู่ฟ้า มหาสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว จ.ปัตตานี 2. เทศกาลมรดกโลกบ้านเชียง จ.อุดรธานี 3. ประเพณีหกเป็งนมัสการพระมหาธาตุเจ้าภูเพียงแช่แห้ง จ.น่าน 4. ประเพณีแห่มาลัยข้าวตอก “มาฆบูชา อารยธรรมอีสาน” จ.ยโสธร 5. ประเพณีแห่ผ้าพระบฏพระราชทานถวายพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช จ.นครศรีธรรมราช 6. เทศกาลโคราชเมืองศิลปะ KORAT Street Art จ.นครราชสีมา 7. เทศกาลตามรอยอารยธรรมขอมโบราณ ปราสาทศิลา “สด๊กก๊อกธม” จ.สระแก้ว 8. เทศกาลเมืองคราม สกลนคร (KRAM & CRAFT SAKON FESTIVAL) นครหัตถศิลป์โลก เจ้าแห่งครามธรรมชาติ จ.สกลนคร 9. เทศกาลอาหารอร่อย เมืองภูเก็ต เมืองสร้างสรรค์แห่งวิทยาการอาหาร จ.ภูเก็ต 10. ประเพณีบุญกลางบ้าน สืบสานตำนานเมืองพนัส จ.ชลบุรี 11. เทศกาล “นาฏยแห่งศรัทธา กิ่งกะหร่า น้อมบูชา วิสาขปุรณมี” จ.แม่ฮ่องสอน 12. ประเพณีตักบาตรดอกไม้เข้าพรรษา จ.สระบุรี 13. ประเพณีบวงสรวงพญาศรีสัตตนาคราช เลาะตลาดคนเมืองไทนคร จ.นครพนม 14. เทศกาลไทลื้อ “โฮ่มฮีต โตยฮอย ร้อยใจไทลื้อ” จ.พะเยา 15. เทศกาลอาหารผสานศิลป์ เมืองเพชร เมืองสร้างสรรค์ จ.เพชรบุรี และ16. เทศกาลโคมแสนดวงที่เมืองลำพูน จ.ลำพูน ทั้งนี้ วธ. โดยสำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม จะจัดสรรงบประมาณเพื่อให้สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนำไปบูรณาการจัดกิจกรรม เพื่อยกระดับเทศกาลประเพณีไปสู่ระดับชาติและนานาชาติ ต่อไป