การขับเคลื่อนพัฒนา “เมืองอัจฉริยะ” หรือ “สมาร์ทซิตี้” ถือเป็นหนึ่งนโยบายที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 เพื่อให้ประเทศไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะ ที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน!?!

ซึ่งทางกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ดำเนินการส่งเสริมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง โดยระหว่างปี 2564-2565 ประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว 30 เมือง!?!

ทิศทาง การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ของไทยต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร? หาคำตอบได้ด้านล่างนี้?!?          

“ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) บอกว่า รัฐบาลมีนโยบายนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาเมืองในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ ให้ยกระดับสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ทำให้เมืองเจริญทันสมัย และน่าอยู่ ช่วยพัฒนาความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิต ของประชาชนอย่างทั่วถึง 

“ภายในสิ้นปี 66 นี้มีเป้าหมายจะส่งเสริมเเมืองอัจฉริยะ เพิ่มขึ้นอีกไม่น้อยกว่า 15 เมืองรวมเป็น 45 เมือง และประเมินว่าการพัฒนา เมืองอัจฉริยะจะช่วยให้เกิดโอกาสการลงทุนจากหน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนรวม มูลค่ากว่า 60,000 ล้านบาท และจะมีการสร้างมูลค่าการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต”

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องงบประมาณของท้องถิ่นต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะส่วนใหญ่ขาดงบประมาณ ในการดำเนินการ ซึ่งทางรัฐบาลพยายามขอสำนักงบประมาณ เพื่อจัดตั้งเป็นงบบูรณาการที่ทำเรื่องสมาร์ทซิตี้โดยเฉพาะ เพื่อสนับสนับสนุน เมืองต่าง ๆ ในการพัฒนาเป็นสมาร์ทซิตี้ได้เร็วยิ่งขึ้น!?!

ขณะที่หน่วยงานที่เป็นแกนหลักในการทำงานนี้ อย่าง “ดีป้า” ทาง “ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์” ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า บอกว่า การสนับสนุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะในระดับท้องถิ่นดำเนินการในหลากหลายมิติ ที่ผ่านมามีเมืองที่เสนอแผนเข้ามาให้ดีป้าพิจารณา แต่ส่วนใหญ่พบว่ายังขาดแผนที่ชัดเจนในกรอบระยะเวลา 5-10 ปี ซึ่งต้องสามารถระบุพื้นที่ พัฒนาเมืองโดยมีขอบเขตชัดเจน มองเห็นศักยภาพและปัญหา อีกทั้งสามารถเตรียมความพร้อมเรื่องระบบบริการทั้ง 7 สมาร์ท ได้ตรงตามบริบทของพื้นที่ โดยคำนึงถึงความยั่งยืน และเกิดประโยชน์สูงสุดกับภาคประชาชน

“ที่ผ่านมามีเมืองที่เสนอแผนเพิ่มเข้ามา 75 เมือง กำลังอยู่ในช่วงตรวจสอบ วิเคราะห์แผนงาน 45 เมือง และผ่านได้ตราสัญลักษณ์เป็นเมืองอัจริยะแล้ว 30 เมือง และในปีนี้จะเพิ่มไม่น้อยกว่า 15 เมือง ซึ่งแต่ละจังหวัดแต่ละพื้นที่สามารถเลือกทำเฉพาะพื้นที่ ที่มีความพร้อมได้ ไม่จำเป็นต้องทำทั้งจังหวัด”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นอีกหนึ่งปัญาหนึ่งนอกจากเรื่องงบประมาณ คือ ขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง สินค้าและ บริการด้านดิจิทัล เพื่อนำมาพัฒนาเมืองที่มักมีปัญหาว่า หน่วยงานในท้องที่ มีการจัดซื้อที่แพงเกินไป ไม่ได้มาตราฐาน ตามข้อกำหนดของหน่วยงานตรวจสอบ เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นั้น

ในเรื่องนี้ ทางผู้บริหารดีป้า บอกว่า ได้มีการ จัดทำ “บัญชีบริการดิจิทัล” ขึ้น ซึ่งรวบรวมสินค้าและบริการดิจิทัล จากผู้ประกอบการและผู้ให้บริการดิจิทัลไทย รวมถึงสตาร์ทอัพ ที่มีคุณสมบัติเป็นไปตามข้อกำหนด ด้านมาตรฐานและราคากลาง เพื่อช่วยคัดกรองสินค้าและบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพในราคาที่สมเหตุสมผล ตรวจสอบได้ ลดการทุจริต ลดขั้นตอนต่างๆมีการเชื่อมระบบกับกรมบัญชีกลางให้กับหน่วยงานภาครัฐ สามารถใช้กระบวนการ ทางพัสดุด้วยวิธีคัดเลือกหรือเฉพาะเจาะจงในการซื้อ หรือเช่าซื้อสินค้าและบริการดิจิทัล เป็นไปตามระเบียบจัดซื้อจัดจ้างของกรมบัญชีกลาง 

ทั้งนี้ จะช่วยให้ให้เกิดความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างของท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสมาร์ทซิตี้ ขณะเดียวกันยังช่วยให้ผู้ประกอบการดิจิทัลไทย เข้าสู่ตลาดภาครัฐได้ง่ายขึ้น โดยปัจจุบันมีเอกชนมาขึ้นทะเบียนแล้ว 300 ราย และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และจะเริ่มให้บริการในเดือน มี.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม สำหรับมุมมองของผู้บริหารเมือง “เทศบาลหัวหิน” ถือเป็นหนึ่งพื้นที่สำคัญในการนำร่องพัฒนา สมาร์ทซิตี้ ของ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทาง “นพพร วุฒิกุล” นายกเทศมนตรีเมืองหัวหิน บอกว่า เทศบาลเมืองหัวหิน ตั้งเป้าหมายที่จะเป็น “เมืองท่องเที่ยวปลอดภัย สะอาด น้ำใส ไร้ PM 2.5” โดยอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารจัดการ และตรวจสอบเมืองให้มีประสิทธิภาพและเหมาะสมต่อการอยู่อาศัยและท่องเที่ยว

ภาพ pixabay.com

ทั้งนี้ อำเภอหัวหินได้เสนอการเป็นเมืองสมาร์ท ซิตี้ 5 ด้าน จากทั้งหมด 7 ด้าน คือ 1.ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) 2.ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ (Smart Living) 3.ด้านการบริการภาครัฐอัจฉริยะ (Smart Governance) 4.ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ (Smart Mobility) และ 5.ด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)

ซึ่งในปี 65 ที่ผ่านมาได้เริ่มลงทุนพัฒนาสมาร์ท ซิตี้ ด้วยงบประมาณ 9.4 ล้านบาท โดยเฟสแรกเสร็จแล้ว คือ ด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ด้วยการทำ GPS Tracking ช่วยบริหารจัดการขยะ ตั้งเป้าลดขยะตกค้างในพื้นที่ไม่น้อยกว่า 80% มีรีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ สร้างสิ่งแวดล้อมที่ไร้มลพิษ และ ด้านการดำรงชีวิตอัจฉริยะ ด้วยการติดตั้งเสาสมาร์ท โพล และติดตั้งกล้อง ซีซีทีวี ทั่วเมือง ติดอุปกรณ์วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ไวไฟ ฮอตสปอต เพื่อให้บริการฟรีไวไฟ ช่วยชีวิตสมาร์ทขึ้น ปลอดภัย และลดปัญหาอาชญากรรม

ขณะที่การพัฒนา ด้านการบริการภาครัฐอัจฉริยะ ด้านการเดินทางและขนส่งอัจฉริยะ และด้านเศรษฐกิจอัจฉริยะ กำลังเร่งดำเนินการ และคาดว่าเทศบาลหัวหิน จะได้รับการยกระดับให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ได้ ภายในปี 68 หรืออีก 2 ปี จากนี้ โดยในช่วงก่อนโควิด อ.หัวหิน มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประมาณ 10 ล้านคน  ขณะที่ตัวเลขในปี 65ที่ผ่านมา อยู่ที่ 7.76 ล้านคน และคาดว่าเมื่อเปิดประเทศจะมีนักท่องเที่ยวกลับมามีจำนวนเท่ากับก่อนโควิด หรืออยู่ที่ 10 ล้านคนในปีนี้

การพัฒนาเมืองให้เป็นเมืองอัจริยะ ด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่พร้อม มีความจำเป็น เพื่อให้เมืองมีความทันสมัย ช่วยดึงดูงนักท่องเที่ยว หรือ คนทำงาน ให้มาพักท่องเที่ยวหรือทำงานได้ในระยะยาว เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในท้องถิ่น!?!

จิราวัฒน์ จารุพันธ์