เมื่อเวลา 10.30 น. วันที่ 27 ก.พ. ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เป็นพิเศษ ในวันอังคารที่ 28 ก.พ. 66 เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป เพื่อพิจารณาเรื่องด่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 พ.ศ. 2566 ที่ ครม. เป็นผู้เสนอ ว่า หากจะยื่นศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่า พ.ร.ก.นี้ ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ต้องยื่นคัดค้านก่อนที่จะมีพิจารณาหรือก่อนการอนุมัติ พ.ร.ก. หากมีการยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ ประธานสภาต้องสั่งให้ยุติการพิจารณาจนกว่าจะมีคำวินิจฉัย และตามกรอบเวลาประธานสภา จะต้องส่งต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน
จากนั้นศาลรัฐธรรมนูญจะต้องวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และตราบใดที่ยังไม่มีการอนุมัติจากสภา หรือยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ผลบังคับใช้ พ.ร.ก. ก็ยังมีอยู่ตลอด โดยช่วงระยะเวลาเป็นปัจจัยที่จะตัดสินใจต่อการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ พรรคฝ่ายค้านคาดหวังว่าสภา ควรจะเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุมัติ พ.ร.ก. หรือไม่ หากเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าไม่ควรอนุมัติ ก็ไม่ควรที่จะยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ
หากสภาอนุมัติ ก็ส่งให้วุฒิสภาพิจารณาเห็นชอบ จึงเป็นสภาพบังคับให้ ครม. เปิดสมัยวิสามัญเพื่อให้วุฒิสภาพิจารณา พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.อุ้มหาย หากวุฒิสภาอนุมัติ ก็จบไป หรือหากสภาไม่อนุมัติและวุฒิสภาไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ก็ตกไป แต่หากสภาไม่อนุมัติ และส่งให้วุฒิสภา แล้ววุฒิสภา อนุมัติก็ต้องส่งกลับมายังสภาพิจารณาอีกครั้งว่า จะยืนยันมติของวุฒิสภาหรือไม่
“สำหรับจุดยืนของพรรคฝ่ายค้านคือไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ดังกล่าว ด้วยเห็นว่ากระบวนการไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้สมัยประชุมสภา จะปิดวันที่ 28 ก.พ. หากจำเป็นต้องเปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณา พ.ร.ก. ดังกล่าว ต้องมีเงื่อนไขว่ายังมีรัฐบาลอยู่ และจะต้องเปิดภายในอายุของสภา คือวันที่ 23 มี.ค. 66 เท่านั้น หากหมดอายุสภาแล้ว ก็ไม่สามารถเปิดสมัยวิสามัญได้” นพ.ชลน่าน กล่าว
ทางด้าน พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรคประชาชาติ กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า พรรคฝ่ายค้านจะรอฟังเหตุผลของรัฐบาลถึงการออก พ.ร.ก. เพื่อให้ชะลอการบังคับใช้ มาตรา 22 มาตรา 23 มาตรา 24 และมาตรา 25 ของ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 ออกไปว่ามีเหตุผลความจำเป็นใด ทั้งนี้ยอมรับว่าฝ่ายค้านได้หารือในขั้นตอนเตรียมการ ต่อการเข้าชื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อวินิจฉัยถึงเหตุจำเป็นเร่งด่วนต่อการออก พ.ร.ก. ดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุป ทั้งนี้ฝ่ายค้านจะติดตามการชี้แจงและการอภิปรายเหตุผลของรัฐบาลก่อน หากจะตัดสินใจอย่างใดนั้น จะเกิดขึ้นภายในวันประชุม
สำหรับเหตุผลของการออก พ.ร.ก. ก่อนหน้านี้นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม เคยชี้แจงกับสภา แต่ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสม และสะท้อนความขี้เกียจของรัฐบาล ดังนั้นการชี้แจงต่อสภาอีกครั้ง ตนหวังว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ควรมาชี้แจงด้วยตัวเอง
“ในความเห็นส่วนตัวมองว่าการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว อาจมีประเด็นการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการใช้อำนาจรัฐในการควบคุมตัวบุคคล ผู้ควบคุมสามารถข่มขู่ ขู่เข็ญ เพื่อแสวงหาในสิ่งที่มิชอบได้ ซึ่งคาบเกี่ยวในช่วง 6 เดือนที่มีการเลือกตั้ง”
เมื่อถามถึงกรณีการพิจารณาหากสภาฯไม่อนุมัติ รัฐบาลหรือนายกฯ ควรรับผิดชอบอย่างไร พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทราบว่า ส.ส. ฝั่งรัฐบาลบางส่วนมีความไม่เห็นด้วยเช่นกัน ดังนั้นต้องรอดูการลงมติ แต่หากสภาไม่อนุมัติสิ่งรัฐบาลต้องดำเนินการ มี 2 ทาง คือ ยุบสภาหรือ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออก แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะไม่รับผิดชอบอะไรเลย เพราะที่ผ่านมา แม้มีเหตุการณ์ที่นายกฯ ต้องแสดงความรับผิดชอบ กลับหลีกเลี่ยงการปฏิบัติ
ขณะที่ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนได้แจ้งกรรมการบริหารพรรคก้าวไกล มีมติโหวตคว่ำ พ.ร.ก. ฉบับนี้ของรัฐบาล และไม่เห็นด้วยกับการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการออก พ.ร.ก. ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
“พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เป็นกฎหมายที่ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลผลักดันร่วมกันกับภาคประชาสังคม เพื่อคุ้มครองไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิและร่างกายของประชาชนระหว่างถูกควบคุมตัว ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้เคยยืนยันต่อ กมธ. ของสภาเองว่า เจ้าหน้าที่สามารถปฏิบัติตามกฎหมายได้ทันแน่นอน ดังนั้น เมื่อถึงกำหนดที่ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ จะต้องบังคับใช้แล้ว การออก พ.ร.ก. เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ. ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญ จึงรับฟังไม่ได้ และชัดเจนอยู่แล้วโดยไม่ต้องถามศาล รธน. ว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะมิได้เป็นกรณีฉุกเฉิน มีความจำเป็นเร่งด่วนแต่อย่างใด”
พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้ารัฐบาลและผู้กำกับดูแลตำรวจ ต้องรับผิดชอบต่อเรื่องนี้ เพราะการอ้างว่า ตำรวจไม่พร้อมปฏิบัติตามกฎหมายทั้งๆ ที่มีเวลาเตรียมตัวถึง 120 วัน แท้จริงแล้วมันสะท้อนตัวตนของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ไม่ต้องการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองสิทธิและชีวิตร่างกายของประชาชน ซึ่งถ้าพรุ่งนี้ พ.ร.ก. ถูกคว่ำในสภา พล.อ.ประยุทธ์ สมควรต้องลาออกจากตำแหน่งนายกฯ ทันที เพราะไม่มีความชอบธรรมที่จะรักษาการต่อหลังยุบสภาอีกแล้ว
นายชัยธวัช กล่าวต่อไปว่านอกจากนี้ในประเด็นที่มีการเสนอให้ ส.ส. เข้าชื่อต่อประธานสภาเพื่อยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญในการ พ.ร.ก. นั้น พรรคก้าวไกลเห็นว่าไม่ควรยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นอำนาจเต็มของสภาผู้แทนฯ อยู่แล้ว ที่จะลงมติว่า พ.ร.ก. ฉบับนี้ออกมาโดยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญการยื่นศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นการช่วยเตะถ่วงให้ พ.ร.ก. ที่ออกมาโดยมิชอบ สามารถบังคับใช้ต่อไปเรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อประชาชน คนที่จะได้ประโยชน์ที่สุดจากการยื่นศาลรัฐธรรมนูญ คือ พล.อ.ประยุทธ์ เพราะไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมืองใดๆ หากสภาโหวตไม่อนุมัติ พ.ร.ก. ของรัฐบาล
ส่วน นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่าความจริงมีทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลที่ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการออก พ.ร.ก. ว่าขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ โดยเรื่องจบเมื่อวันที่ 23 ก.พ. เพราะในวันดังกล่าว รัฐบาลส่งเรื่องนี้มาในเวลา 16.15 น. เราจึงต้องหารือว่า จะนัดประชุมเมื่อไหร่ จะรอปิดสมัยประชุมหรือไม่ แต่เมื่อเห็นว่าเวลามีเพียงพอ นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎร ได้แจ้งว่า ทุกฝ่ายมีความพร้อมในวันที่ 28 ก.พ. 66
อย่างไรก็ตามเรื่องการรักษาองค์ประชุมเป็นเรื่องของรัฐบาลที่เป็นเจ้าของ พ.ร.ก. นี้ จึงต้องนำองค์ประชุมมาให้ครบ แต่โดยทั่วไปตนเข้าใจว่า จะเป็นโอกาสของพรรคฝ่ายค้านที่จะอภิปรายเหมือนอภิปรายไม่ไว้วางใจอีกครั้งหนึ่ง เกี่ยวกับการออก พ.ร.ก. เพื่อยกเว้น ไม่ใช้กฎหมายนี้จำนวน 4 มาตรา เพราะไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ตาม มีบางฝ่ายเห็นว่าอาจจะมีการเสนอเพื่อให้ประธานสภานำเรื่องส่งศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อตีความว่ากฎหมายที่ออกมานี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 172 หรือไม่ หากเข้าชื่อกันได้ตามที่กฎหมายกำหนด
เมื่อถามว่า หาก พ.ร.ก. ถูกคว่ำ จะเกิดอะไรขึ้น นายชวน กล่าวว่าวันที่ 28 ก.พ. นี้ บรรจุวาระการประชุมไว้เพียงเรื่องเดียว เว้นแต่องค์ประชุมไม่ครบ ก็ช่วยไม่ได้ เมื่อถามย้ำว่าหากลงมติไม่ผ่านจะทำอย่างไร นายชวน กล่าวว่า ไม่ผ่านก็ไม่ผ่าน และการยกเว้นไม่มีผล เมื่อถามถึงกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลเตรียมเสนอให้ชะลอการพิจารณา พ.ร.ก. นี้ไว้ รอให้สภาชุดหน้าพิจารณาต่อ นายชวนกล่าวว่า ชะลอไม่ได้ ดังนั้นจึงมีวิธีเดียวคือ การใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยการเข้าชื่อ 1 ใน 5 ของจำนวนสภาชิกสภาเท่าที่มีอยู่ เพื่อส่งเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 3 วัน หรือตราบเท่าที่ยังไม่ลงมติ หรือระหว่างอภิปราย ก็สามารถส่งให้ประธานสภา ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญได้
เมื่อถามว่า หาก พ.ร.ก. ฉบับนี้ถูกคว่ำ ใครได้ผลประโยชน์มากที่สุด นายชวน กล่าวว่า “ก็ต้องใช้กฎหมายที่ออกมาแล้ว”