เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 9 มี.ค. ที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ประธานเปิดงานรณรงค์ กทม. ปลอดเหตุ ทั่วประเทศปลอดภัย พร้อมใจใส่หมวกกันน็อก และร่วมนำขบวนจักรยานยนต์สวมหมวกกันน็อกทุกคน โดยมี นายวิรุณ บุญนุช ประธานโครงการถนนปลอดเหตุ ชีวิตปลอดภัย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะประธานกรรมการคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนน วุฒิสภา ผู้บริหาร กทม. ผู้บริหารยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนน สมาชิกสโมสรโรตารี ภาคีเครือข่าย และหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมกิจกรรม

นายชัชชาติ กล่าวว่า กทม. ขอบคุณโรตารีที่รณรงค์เรื่องนี้มาตั้งแต่แรก เป็นเรื่องจิตสำนึกที่ต้องรณรงค์ควบคู่กันไป กทม. เองเริ่มมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ได้แจกหมวกกันน็อก 1.2 แสนใบให้นักเรียน กทม. ได้ผลดีในการให้เด็กใส่หมวกกันน็อกมาโรงเรียน โรตารีมีเป้าหมายชัดเจนในการลดอุบัติเหตุเสียชีวิตบนถนนลงให้เหลือปีละ 4,000 คน จากเดิมเกือบ 20,000 คน ซึ่ง 74% จากรถจักรยานยนต์ ซึ่ง 90% ไม่สวมหมวกกันน็อก ซึ่งหากเรารณรงค์ในภาพรวมได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี เพราะหมายถึงครอบครัว สังคม และมูลค่าทางเศรษฐกิจด้วย กทม. ก็เดินหน้าอย่างเข้มแข็งในเรื่องของการปรับปรุงกายภาพให้ดีขึ้น ทั้งทางม้าลาย ถนน การบังคับใช้กฎหมาย และการรณรงค์จิตสำนึกที่ต้องร่วมมือกัน หากทำได้จะเห็นผลเป็นรูปธรรม
ด้านนายวิรุณ กล่าวว่า จากการเสียชีวิตของแพทย์หญิงด้วยอุบัติเหตุบนทางข้ามเมื่อ 21 ม.ค. 65 ทำให้โรตารีทั่วประเทศทั้ง 4 ภาค ได้ร่วมมือกันรณรงค์โครงการถนนปลอดเหตุ ชีวิตปลอดภัย หรือ Safe Roads, Save Live เพื่อลดการเสียชีวิต บาดเจ็บ และทุพพลภาพ จากการประเมินของทีดีอาร์ไอ (TDRI ) ในแต่ละปีประเทศไทยสูญเสียเป็นจำนวนเงินกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี โดยมุ่งเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ให้คนไทยทุกคนมีสติคำนึงถึงความปลอดภัยตลอดเวลาในขณะใช้ถนนหรือขณะขับขี่ยานพาหนะ และได้ร่วมมือภาคส่วนต่างๆ ลงนามบันทึกความเข้าใจกับคณะกรรมการบูรณาการกู้ชีพฉุกเฉินและความปลอดภัยทางถนนของวุฒิสภา แผนยุทธศาสตร์ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลก ด้านความปลอดภัยทางถนนโรตารี และภาคีเครือข่าย สร้างกลไกการทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องต่อเนื่องให้สัมฤทธิผล

ขณะที่ นายสุรชัย กล่าวว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยปีละ 20,000 คน ซึ่งประเทศญี่ปุ่น เคยอยู่จุดเดียวกับประเทศไทย แต่สามารถแก้ไขปัญหาโดยทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างความเข้มแข็ง โดยใช้เวลา 40 ปี ทำให้ปัจจุบันที่ประเทศญี่ปุ่น เหลือผู้เสียชีวิตบนท้องถนนปีละ 3,000 คนเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยแก้ปัญหาลดผู้เสียชีวิตมาต่อเนื่องตลอด 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะปล่อยให้หน่วยงานใดแก้ไขปัญหาเพียงลำพังไม่ได้ ดังนั้นทุกหน่วยงานและภาคเครือข่าย ต้องร่วมมือเดินหน้าเพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตให้ได้ตามเป้าหมาย.