นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า กรมประมง ได้ดำเนินการขับเคลื่อนงาน ตามแผนพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2565-2570 ที่มุ่งพัฒนาการผลิตสัตว์น้ำจืด และพัฒนาธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่า (Value Chain) ให้มีประสิทธิภาพผ่านกลไกความร่วมมือของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและคณะทำงานขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจฯ ดังกล่าว ในรูปแบบการบูรณาการการทำงานร่วมกัน ของหน่วยงานกรมประมงทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งจากเกษตรกร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยมีการแต่งตั้งคณะทำงาน ขับเคลื่อนฯ หรือ มิสเตอร์สัตว์น้ำรายชนิด จำนวน 14 ชนิด ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ ซึ่งประกอบด้วย ปลานิล ปลาดุก ปลาช่อน ปลาแรด ปลาสลิด ปลาตะเพียนขาว ปลาสวาย กบนา ปลาหมอ ปลายี่สกเทศ ปลานวลจันทร์เทศ ปลากดหลวง ปลาเทโพ และปลากดเหลือง ซึ่งเป็นผู้ประสานงานหลัก

ในการขับเคลื่อนตามแผนปฏิบัติการพัฒนาสัตว์น้ำฯ ใน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ การวิจัยเทคโนโลยีและนวัตกรรม การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การสร้างความเข้มแข็งของเกษตรกร และการตลาด เพื่อเป็นแนวทาง ในการขับเคลื่อนสู่การการพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกร และผู้ประกอบการ ตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการผลิตสัตว์น้ำและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง นำไปสู่การ พัฒนาสัตว์น้ำจืดที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจทั้ง 14 ชนิดได้ทั้งระบบ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นำไปสู่การสร้างความมั่นคงด้านอาชีพของเกษตรกร และการพัฒนา ภาคการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดได้อย่างมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

ในอนาคต กรมประมง มีแนวทางในการที่จะส่งเสริมการผลิตสัตว์น้ำทั้ง 14 ชนิด ให้ได้มากที่สุด โดยมีเป้าหมายการพัฒนาที่ชัดเจนทั้งด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสัตว์น้ำครบวงจร พัฒนาสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร และการพัฒนาด้านการตลาด โดยการส่งเสริมขยายตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้ความร่วมมือ ของทุกภาคส่วน ควบคู่ไปกับการจัดทำข้อมูล ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาสัตว์น้ำจืดทั้ง 14 ชนิด อย่างยั่งยืน โดยการพัฒนาองค์ความรู้ของเกษตรกร เพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดทั้งภายในและต่างประเทศ

นายรัฐภัทร์ ประดิษฐ์สรรพ์ หัวหน้ากลุ่มวิจัยและพัฒนา เทคโนโลยีและนวัตกรรม กองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืด กล่าวเพิ่มเติมในฐานะ มิสเตอร์ปลานิลว่า… “ปลานิล” จัดเป็นปลาน้ำจืดอีกชนิดหนึ่งที่กรมประมงได้ให้ความสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการพัฒนา การเพาะเลี้ยงเชิงพาณิชย์ จากการรวบรวมข้อมูลสถิติ โดยกองตรวจสอบเรือประมง สินค้าสัตว์น้ำและปัจจัยการผลิต กรมประมง พบว่า ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปลานิลของประเทศไทย ในปี 2565 นั้น มีปริมาณการส่งออก 8,101.01 ตัน คิดเป็นมูลค่า 504.14 ล้านบาท นอกจากนี้ กรมประมง ได้มีการเพาะพันธุ์ปลานิล และจำหน่ายให้เกษตรกรภายใต้กองเงินทุนหมุนเวียน ของกรมประมง ซึ่งในทั้งปีงบประมาณ 2565 สามารถจำหน่ายลูกพันธุ์ปลานิล ได้จำนวน 124,987,560 ตัว เป็นเงิน 35,618,668 บาท

แสดงให้เห็นว่า ปลานิล ยังคงเป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่ยังคงเติบโต และควรผลักดันอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2566 คณะทำงานขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการพัฒนาปลานิล ได้กำหนดแผนพัฒนาอุตสาหกรรมปลานิล ห่วงโซ่คุณค่า ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการเพาะเลี้ยง ด้วยการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ทันสมัย เข้ามาช่วยในการเพาะเลี้ยง เพื่อผลิตปลานิลให้ได้คุณภาพอย่างมีมาตรฐาน ตลอดจนเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ด้วยการหาช่องทางการตลาดคุณภาพที่สามารถรองรับปริมาณผลผลิตจำนวนมาก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาปลานิลล้นตลาด

โดยล่าสุดนี้ กรมประมง ได้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสมาคมปลานิลไทย (Thai Tilapia Association) ไปเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2565 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเชิญชวนเกษตรกรเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสมาคมฯ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์ การผลิตและการตลาด ตลอดจนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงและส่งออกปลานิล เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป