เป็นสถานการณ์ที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด หลังจากเมื่อวันที่ 10 มี.ค. ทางศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินทางนิวเคลียร์และรังสี ได้รับแจ้งว่า ท่อบรรจุสารนิเคลียร์ ซีเซียม-137 หายจากโรงไฟฟ้า ซึ่งภายหลังพบว่าถูกหลอมไปแล้วเรียบร้อย และยังมีการส่งต่อรีไซเคิลระยอง ซึ่งสารดังกล่าวนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง ตามที่ได้นำเสนอไปแล้วนั้น
-ย้อนรอยเส้นทาง ‘ซีเซียม-137’ อยู่พื้นที่ไหนจนทำเสี่ยงบ้าง?
แต่คงต้องบอกว่าเหตุการณ์ “ซีเซียม-137” ในครั้งนี้ ไม่ใช่เหตุการณ์ที่มีการนำชิ้นส่วนกักเก็บสารกัมภาพรังสีที่เกิดจากความประมาท ไร้คนดูแล ออกมาแยกชิ้นส่วน จนสร้างผลกระทบ เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2543 นั่นคือกรณี “โคบอลต์-60” รั่วไหล..
อุบัติเหตุทางรังสีครั้งแรกของประเทศไทย
ย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2543 ได้เกิดเหตุการณ์หนึ่ง ที่สร้างความตื่นตระหนก เสียขวัญให้กับประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก นั่นคือ “อุบัติเหตุทางรังสี” ที่ จ.สมุทรปราการ ซึ่งเกิดจากการขาดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับสารรังสีและอันตรายของสารรังสี
โดยเมื่อวันที่ 24 ม.ค. 2543 พ่อค้าเร่คนหนึ่ง ได้รับซื้อกล่องโลหะทรงกระบอกขนาดใหญ่ เส้นผ่านศูนย์กลาง 20 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร แล้วนำไปเก็บที่สนามหญ้าซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 100 เมตร ซึ่งกล่องโลหะทรงกระบอกขนาดใหญ่ คือ “ส่วนหัวของเครื่องฉายรังสีทางการแพทย์ หรือ เครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60” ที่ไม่ใช้แล้วถูกแยกชิ้นส่วนออกมา และบางส่วนถูกนำออกมาจากสถานที่เก็บ ที่ไม่มีการควบคุมดูแล นำไปเก็บไว้ในที่จอดรถร้าง ในซอยอ่อนนุช ตั้งแต่ปี 2542
ต่อมาในวันที่ 1 ก.พ. พ่อค้าเร่นำโลหะทรงกระบอกดังกล่าว ไปขายที่ร้านรับซื้อของเก่า ในซอยวัดมหาวงษ์ ต.สำโรง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ โดย เจ้าของร้านและลูกจ้าง ได้ทำการตัดแยกชิ้นส่วนโลหะที่ห่อหุ้มสารกัมมันตภาพรังสีไว้ภายใน ทำให้กัมมันตภาพรังสีแพร่ออกมา
ช่วงวันที่ 15-17 กุมภาพันธ์ ทั้งพ่อค้าเร่และคนงาน 2 คน ของร้านรับซื้อของเก่า แสดงอาการผิดปกติ เช่น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร มือบวมพอง และผมร่วง จนต้องนำตัวส่งโรงพยาบาลสมุทรปราการ ซึ่งต่อมาแพทย์สรุปความเห็นว่า น่าจะเกิดจากการได้รับรังสีระดับอันตราย จึงได้แจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้นำเครื่องตรวจวัดรังสีไปตรวจที่ร้านรับซื้อของเก่า
ช่วงค่ำวันที่ 18 ก.พ. สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ชื่อเดิมคือสำนักงานพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ) หรือ OAP ตรวจพบว่า บริเวณหน้าร้านรับซื้อของเก่ามีระดับรังสีสูงมาก แสดงว่ามีต้นกำเนิดรังสีตกหล่นอยู่
ในจำนวนผู้ป่วย 10 ราย ที่ได้รับปริมาณรังสีสูงจากต้นกำเนิดรังสี ในจำนวนนี้มี 3 ราย ที่ทำงานร้านรับซื้อของเก่า เสียชีวิตในระยะเวลา 2 เดือน หลังจากได้รับรังสี ในจำนวนผู้ป่วย 10 ราย ที่ได้รับปริมาณรังสีสูงจากต้นกำเนิดรังสี ในจำนวนนี้มี 3 ราย ที่ทำงานร้านรับซื้อของเก่า “เสียชีวิต” ในระยะเวลา 2 เดือน หลังจากได้รับรังสี แต่มีข้อมูลบางส่วนที่สามารถสรุปได้ว่า มีชาวบ้านในรัศมี 50-100 เมตร รวม 1,614 คน ต้องเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพทุก 6 เดือน และด้วยความไม่เข้าใจอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดการ “ต่อต้าน” การเผาศพผู้เสียชีวิต เพราะกลัวสารกัมมันตรังสีตกค้าง
สำหรับผู้ได้รับผลกระทบ ได้มอบหมายให้ทนายความจากสภาทนายความฯ และโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (ปัจจุบันคือมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม-EnLAW) ยื่นฟ้อง บริษัท กมลสุโกศล อีเล็คทริก จำกัด ที่ 1 กับพวก รวม 5 คน ต่อศาลแพ่ง เมื่อวันที่ 14 ก.พ. 2544 ให้ชดเชยค่าเสียหายต่อสุขภาพของประชาชนที่ได้รับสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีจากแท่งโคบอลต์-60 เนื่องจากเป็นผู้ครอบครองเครื่องฉายรังสีโคบอลต์-60 โดยขาดความระมัดระวังในการใช้และจัดเก็บ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้ได้รับสัมผัส โดยฟ้องเรียกค่าเสียหายรวมเป็นเงิน 109,264,360 บาท
บทสรุปทางคดี
ศาลปกครอง พิจารณาว่า OAP ละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมดูแลการเก็บรักษาวัสดุกัมมันตรังสี และการจัดการให้เกิดความปลอดภัยแก่ประชาชน ทั้งที่ทางโรงพยาบาลได้ทำหนังสือแจ้งมาแล้วว่า ได้ขายเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ให้บุคคลอื่น แต่ OAP ก็มิได้ดำเนินการติดตามใดๆ อย่างละเอียด และมิได้ไปตรวจสอบตามที่มีการขอรับใบอนุญาตประจำปีแต่อย่างใด
ศาลปกครองสูงสุด ยังเห็นพ้องกับศาลปกครองกลางที่พิพากษาให้ OAP ชำระค่าสินไหมทดแทนให้ผู้เสียหายทั้งหมด รวมเป็นเงินกว่า 5 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ. 2543 เป็นต้นไป
คดีแพ่ง นั้น ดำเนินมาจนถึงชั้นศาลฎีกา ซึ่งได้พิพากษาตัดสินเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2559 สรุปว่า ผู้เสียหายไม่ได้กระทำละเมิดต่อบริษัทฯ เนื่องจากบริษัทฯ มีความผิดฐานมีเครื่องฉายรังสีโคบอลต์ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และไม่ได้เก็บรักษาป้องกันมิให้เกิดอันตราย ส่วนบริษัทฯ ละเมิดต่อผู้เสียหายทั้ง 12 ราย เนื่องจากไม่ได้จัดเก็บวัสดุกัมมันตรังสีโคบอลต์ตามกฎกระทรวงและคำแนะนำของ OAP และจัดเก็บในลักษณะปล่อยปละละเลย ถือว่าบริษัทฯ ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ศาลฎีกาพิพากษาให้บริษัทฯ ต้องชดใช้สินไหมทดแทนแก่ผู้เสียหายทั้ง 12 ราย รวมเป็นเงินกว่า 5 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ. 2543 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ
ส่วนกรณี “ซีเซียม-137” แม้จะยังไม่มีข้อสรุปถึงผลกระทบและความเสียหาย หรือแม้แต่มาตรการป้องกันออกมาเหมือนกรณีของ “โคบอลต์-60” แต่แน่นอนว่า คงไม่มีใครอยากเห็นความสูญเสียจนกลายเป็นหายนะ ที่คนไทยไม่มีวันลืม ซ้ำรอยเป็นครั้งที่สองอย่างแน่นอน..