เราปลูกต้นไม้ก็หวังอยากให้ต้นไม้เจริญเติบโต ออกดอก ออกผล นอกจะการรดน้ำแล้ว การให้ปุ๋ยก็เป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโต เพราะในปุ๋ยมีธาตุอาหารที่ต้นไม้ต้องการ ปุ๋ยเคมีเป็นปุ๋ยที่สะดวกที่สุดในการใช้ และพืชนำไปใช้ได้ง่ายและเร็ว แต่จะเลือกปุ๋ยเคมีใส่ต้นไม้ ก็ดันมีสูตรปุ๋ย ที่เป็นตัวเลข ทำให้เรา งง อีก เช่น 46-0-0 หรือ 15-15-15 เรามาทำความเข้าใจ ทั้งตัวเลข และตำแหน่งตัวเลขว่าบอกอะไรกันบ้าง

สูตรปุ๋ยเคมี จะมีตัวเลข ตัวเลข 3 ตัวโดยมีขีดคั่นกลาง เป็นตัวเลขที่ใช้บอกสัดส่วนปริมาณธาตุอาหารหลัก 3 ชนิดของปุ๋ย ได้แก่ ไนโตรเจน (N) ฟอสฟอรัส (P) และ โพแทสเซียม (K) เป็น N P K ธาตุอาหาร 3 ตัวนี้ พืชต้องการในปริมาณมากเมื่อเทียบกับธาตุอื่น ๆ และในดินมักมีไม่เพียงพอ ต่อพืชที่ต้องนำไปใช้ มาดูกันว่า ตัวไหนบำรุงอะไรกันครับ N ไนโตรเจน ช่วยในเรื่อง บำรุงใบ เร่งให้แตกยอด ช่วยให้ใบพืชมีสีเขียว ช่วยทำให้พืชตั้งตัวได้เร็วในระยะแรกของการเจริญเติบโต

P ฟอสฟอรัส ช่วยในเรื่อง บำรุงให้ออกดอก เร่งการออกผล สร้างเมล็ด ช่วยให้ราก ดูดธาตุอาหารไปใช้ได้ดี ช่วยให้รากใหญ่ แข็งแรง กระจายตัวดี

K โพแทสเซียม ช่วยในเรื่อง บำรุงผล ให้ผลใหญ่ขึ้น รสชาติหวานขึ้น สีสวยสด เนื้อของผลมีคุณภาพ เพราะจะช่วยสร้างแป้ง น้ำตาล โปรตีน

เข้าใจสูตรปุ๋ยได้ง่ายๆ ยกตัวอย่างเช่น สูตรปุ๋ย 15-15-15 จะบอกปริมาณ N-P-K ถ้าต้องการบำรุงพืชส่วนไหน ก็จำว่า N-P-K = ใบ-ดอก-ผล (N ไนโตรเจน บำรุงใบ, P ฟอสฟอรัส บำรุงเพื่อออกดอก, K โพแทสเซียม บำรุงเพื่อจะให้ออกผล)  จะแนะนำสูตรปุ๋ยเบื้องต้นไว้ให้ลองนำไปใช้ และยังมีข้อดีข้อเสียของปุ๋ยเคมี มาแนะนำด้วยครับ

สูตรปุ๋ยบำรุงใบ 46-0-0 เหมาะกับไม้ใบ และสนามหญ้า                                                   

สูตรปุ๋ยบำรุงดอก 12-24-12, 8-24-24 เร่งดอก และเพิ่มธาตุอาหารที่จะนำไปบำรุงผล

สูตรปุ๋ยบำรุงผล 8-24-24, 13-13-21 บำรุงผลเหมาะกับพืชผักผลไม้

ไม้ดอกไม้ประดับในบ้านทั่วไป แนะนำ ปุ๋ยสูตรเสมอ 15-15-15 ครับ

ข้อดีของปุ๋ย NPK : ปุ๋ยแบบนี้ส่วนมากจะ ละลายน้ำได้ดี จึงง่ายต่อการดูดซึมของพืช สามารถปรุงแต่งให้มีสารอาหารที่ต้องการอย่างไรก็ได้ โดยมีคุณภาพที่แน่นอน เคยใช้แบบไหนก็สามารถหาแบบที่เหมือนของเดิมใช้ได้ตลอด ที่สำคัญ หาซื้อได้ง่ายตามตลาดทั่วไป

ข้อเสียของปุ๋ย NPK : ไม่ใช่แค่เฉพาะปุ๋ย NPK เท่านั้น แต่ปุ๋ยทุกชนิดในกลุ่มของปุ๋ยเคมีมักจะส่งผลกระทบที่คล้ายคลึงกันก็คือ อาจทำให้อินทรียวัตถุที่มีอยู่แล้วในดินลดปริมาณน้อยลง เมื่อใช้ปุ๋ยแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะมีผลต่อสภาพดินโดยตรงนั่นคือ ดินจะแห้งแข็งและระบายน้ำได้ไม่ดีเหมือนเดิม ความเป็นกรด-ด่างก็จะไม่เหมาะสมกับการเพาะปลูก ต้องมีการพักหน้าดินและฟื้นฟูกันใหม่ด้วยการใช้ปุ๋ยธรรมชาติ หรือ การปลูกพืชที่สามารถปรับปรุงสภาพดินได้ดี เช่น พืชตระกูลถั่ว เป็นต้น

………………………………….
คอลัมน์ “มหัศจรรย์พันธุ์ไม้”
เขียนโดย ‘เอกลักษณ์ ถนัดสวน