และแน่นอนว่า BCG Economy Model เป็นหนึ่งในคำตอบที่อุตสาหกรรมต่างๆ “ต้องไป” ต้องทำให้สอดคล้อง ในเมื่อโลกทั้งใบต้องการให้ทุกธุรกิจปกป้องสิ่งแวดล้อม ลดปัญหาโลกร้อน ที่กำลังเป็นตัวบั่นทอนทรัพยากรโลกนั่นเอง

แต่ขอถามเราๆ ท่านๆ สักคำเถอะ ประเทศไทยเรายกให้ BCG เป็นวาระแห่งชาติไปเรียบร้อยแล้วก็ตาม พี่น้องคนไทยสักกี่คนที่เคยได้ยินคำว่า BCG ไม่นับว่าเหลือน้อยลงเป็นกี่คนที่จะรู้จักว่า B หรือ C หรือ G คืออะไร และลดลงเหลือกี่คนกันที่รู้ว่า ทำอย่างไรจึงเข้าสู่การทำธุรกิจในวงจรนี้ หรือแม้ตระหนักรู้ถึงความสำคัญที่ “ไม่ทำไม่ได้” แล้วนะ ความรู้ความเข้าใจยังห่างไกลเหลือเกิน

เราคงไม่คาดหวังคำตอบทางสถิติ แต่เราคาดหวังการรู้จริงให้ทั่วถึง ความพร้อมลงมือของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐที่ “ไม่เพียงจะ” แต่ “ต้องเจาะ” ลงแต่ละอุตสาหกรรมโดยเฉพาะกลุ่มสำคัญๆ ที่เป็นหัวหอกของซัพพลายเชนขับเคลื่อนประเทศ ทั้งเกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุ และเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เป็นต้น ว่าแต่ละกลุ่มต้องรู้อะไร ต้องทำยังไง ต้องเริ่มตรงไหน และรัฐจะเอื้ออันใดให้เต็มที่บ้าง ไม่เช่นนั้นไม่เพียงธุรกิจในกลุ่มต่างๆ จะตกขบวนที่จะค้าขาย ต้นทุนสูงขึ้นแน่ตามระเบียบโลกใหม่ แต่จะคือความเสี่ยงของประเทศไทย แต่เรายังเห็นหน่วยงานรัฐส่งเสริมกันรูปแบบเดิม ส่งเสริมกันประปรายทีละเล็กละน้อย ยังไม่เห็นการยกแผงทำงานร่วมกันแบบสร้างจากฐานราก

โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ ประธานกิตติมศักดิ์ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย

ว่ากันตามจริง ประเทศไทยเรารํ่ารวยทรัพยากรจนหลายประเทศอิจฉา เรามีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรมล้นเหลือ ถ้ารู้จักหยิบรู้จักใช้ทุนในมือด้วยมุ่ง BCG โมเดล ย่อมเติบโตก้าวกระโดดและยั่งยืน เกิดการกระจายรายได้และโอกาสไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นแน่นอน อย่างน้อยก็ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในประเทศให้ได้อย่างเป็นระบบ เรามีตัวอย่างชุมชนท้องถิ่นที่แข็งแรงเป็นสัมมาชีพอยู่มากมายที่ควรทำมาต่อยอด นำมาขยายผลให้เกิดทั้งแผ่นดิน

หากมองกันที่กลุ่มเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ว่ากันที่อุตสาหกรรมหนังสือล่ะ เป็นอุตสาหกรรมเพื่อการศึกษา สามารถพลิกให้คนไทยเรียนรู้เรื่อง BCG ได้อย่างกว้างขวาง ในเบื้องต้นหากภาครัฐต้องทำให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ โดยส่งเสริมให้งบประมาณกับนักเขียน หรือสำนักพิมพ์จัดทำคอนเทนต์รูปแบบหนังสือ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ทั้งเป็นความรู้วิชาการ ทั้งเป็นละคร การ์ตูน หรือคอร์สที่เกี่ยวกับ BCG ให้เกิดความรู้ความเข้าใจว่าคืออะไร ดียังไง ทำอย่างไรในแต่ละอุตสาหกรรม เริ่มให้ความเข้าใจตั้งแต่เด็กน้อยไปจนผู้ใหญ่ทุกคนให้เข้าอกเข้าใจรู้ลึกรู้จริง และถ้าเป็นไปได้อีกขั้นที่มากขึ้น รัฐบาลออกนโยบายจัดเต็มหากการผลิตจัดทำคอนเทนต์บอกได้ว่าใช้วัสดุที่รักษ์โลก หรือมีกระบวนการที่ดูแลสิ่งแวดล้อม เช่น กระดาษรีไซเคิลแทนที่จะราคาสูงจับต้องยาก ต้องราคาเข้าถึงได้ หรือระบบการพิมพ์ที่ดูแลสิ่งแวดล้อมต้องมีแต้มต่อให้โรงพิมพ์

เพียงหยิบจับคนละไม้คนละมือตามบทบาทหน้าที่ตน ย่อมสำเร็จผลให้ประเทศชาติได้แน่นอน.