การแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยยังถือว่าอยู่ในช่วงวิกฤติ หลายองค์กรต่างออกมาช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบกันอย่างเต็มที่ รวมถึงนักบริหารการศึกษาหญิงเก่งอย่าง “ดร.แพรว-ดาริกา ลัทธพิพัฒน์” ทายาทรุ่นที่สามของมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้คร่ำหวอดในวงการการศึกษามากว่า 20 ปี ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ และประธานกรรมการบริหารโรงเรียนนานาชาติเวลลิงตันคอลเลจ กรุงเทพฯ

ขอสลัดภาพนักบริหารชวนเหล่าอาจารย์และเจ้าหน้าที่มาเป็นกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ด้วยการเปิดพื้นที่ของมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์ฉีดวัคซีน ล่าสุดได้นำอาคารหอพักนักศึกษาและอาคารศูนย์การจัดทำเป็นฮอสพิเทล (Hospitel) และ Community Isolation เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเขียว พร้อมทั้งนำห้องปฏิบัติการครัว (Chef Lab) ที่ใช้สำหรับสอนนักศึกษา สาขาวิชาการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ มาเป็นครัวกลางสำหรับผลิตอาหารให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ และผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา

นอกจากนี้ ดร.แพรว ยังช่วยครีเอทเมนูอาหารประจำวันอย่าง “สปาเกตตีผัดขี้เมาไก่” ที่ถือว่าเป็นเมนูสุดโปรด และชอบทำอาหารรับประทานเองตั้งแต่เรียนอยู่ต่างประเทศ เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบรับประทานอาหารไทยที่มีรสชาติกลมกล่อม เผ็ดร้อน และที่สำคัญคือมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วน อีกทั้งยังมีสมุนไพรหลายชนิดที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพและเป็นผลดีต่อผู้ป่วยโควิด-19 อย่าง พริกไทยอ่อน ที่จะช่ววยแก้อาการท้องอืด กระชาย รักษาอาการวิงเวียนศีรษะ แก้อาการแน่นอก กะเพรา แก้จุกเสียดแน่นท้อง ปวดท้อง เป็นต้น และสูตรนี้ของ ดร.แพรว คือการเพิ่ม เห็ดชิเมจิ นอกจากความอร่อยแล้วยังช่วยลดรระดับน้ำตาลในเลือดอีกด้วย

วิธีการทำไม่ยุ่งยาก เริ่มจากการตำกระเทียมและพริกให้ละเอียด จากนั้นทำน้ำซอสสำหรับผัด โดยการนำพริกไทยอ่อน กระชาย ตำให้พอแหลก ใส่เครื่องปรุง น้ำปลา น้ำตาลทราย ซอสปรุงรส ผสมให้เข้ากัน และมาเตรียมเส้นสปาเก็ตตี้ด้วยการนำไปต้มในน้ำร้อนประมาณ 10 นาที พักไว้ให้สะเด็ดน้ำ ตั้งกระทะใส่น้ำมันมะกอกเล็กน้อย ตามด้วยกระเทียมและพริก ผัดให้พอส่งกลิ่นหอม ใส่เนื้ออกไก่ที่หั่นชิ้นเล็กลงไป พอเนื้อไก่สุกใส่เส้นสปาเกตตี ตามด้วยซอสผัดที่เตรียมไว้ ใส่ใบกะเพราสด คลุกเคล้าให้เข้ากัน จัดใส่จาน เพิ่มความหอมและความสวยงาม ด้วยใบกะเพราทอดกรอบ เพียงเท่านี้ก็เสร็จเรียบร้อยพร้อมเสิร์ฟ

ดร.แพรว กล่าวทิ้งท้ายว่า “การจัดเตรียมอาหาร นอกจากจะคำนึงถึงคุณค่าทางโภชนาการแล้ว ยังคำนึงถึงความหลากหลายทั้งประเภทอาหารและรสชาติ ที่เน้นความกลมกล่อมแต่ไม่จัดจ้านเกินไป อย่างเมนูสปาเกตตีขี้เมาไก่ ก็จะไม่เผ็ดมากจนเกินไป แต่ให้พอกระตุ้นต่อมรับรส และทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีกับการรับประทานอาหาร”.

‘ช้องมาศ’