ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาติ เผยรายงานจากโอกาสที่ได้สังเกตการณ์ ขณะดาวฤกษ์ที่กำลังจะดับกลืนกินดาวเคราะห์ดวงหนึ่งเป็นครั้งแรก ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจเป็นชะตากรรมของโลกในอีกหลายพันล้านปีข้างหน้า 

เชื่อกันว่า ดาวเคราะห์ส่วนใหญ่จะพบจุดจบ เมื่อดาวที่เป็นโฮสต์ หรือดาวฤกษ์ ที่เป็นแกนหลักหมดพลังงาน และกลายสภาพเป็นดาวยักษ์แดง ซึ่งมวลของมันจะขยายตัวออกไปเรื่อย ๆ และดูดกลืนทุกอย่างที่อยู่รอบตัว หรืออยู่ในเส้นทางของมัน

ก่อนหน้านี้ นักดาราศาสตร์เคยเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้น ทั้งช่วงก่อนและหลังจากที่เกิดกระบวนการกลืนดาว แต่ไม่เคยได้เห็นเหตุการณ์ระหว่างที่ดาวฤกษ์กำลังกลืนดาวเคราะห์จริง ๆ เลย

คิชาเลย์ ดี นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากสถาบันเอ็มไอทีแห่งสหรัฐอเมริกา และเป็นนักเขียนหลักของกรณีศึกษาใหม่ล่าสุดนี้ กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ เรียกได้ว่าเกิดขึ้นโดยบังเอิญ เรื่องเริ่มขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน ตอนที่เขากำลังศึกษาข้อมูลจากการสำรวจของหน่วยงานซวิคกี ทรานเซียน ฟาซิลีตี ซึ่งเป็นการร่วมงานระหว่างภาครัฐและเอกชน เพื่อศึกษาท้องฟ้าจากการถ่ายภาพทุกคืน

เขาบังเอิญไปพบดาวฤกษ์ดวงหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างกะทันหัน ในระดับ 100 เท่าตัว ภายในเวลาเพียง 10 วัน ดาวฤกษ์ดวงนั้นอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก ห่างจากโลกของเราไปราว 12,000 ปีแสง อยู่ใกล้กับกลุ่มดาวนกอินทรี

ดี กำลังมองหาระบบดาวแบบคู่ ซึ่งเป็นระบบที่มีดาวฤกษ์ 2 ดวง โคจรรอบกัน และดาวดวงที่ใหญ่กว่า มักจะกลืนกินดาวคู่หูของมัน ทำให้เกิดการระเบิดที่ส่งแสงสว่างจ้าออกมา

แต่ข้อมูลที่เขามีบ่งชี้ว่า การระเบิดครั้งนี้ล้อมรอบไปด้วยก๊าซเย็น ซึ่งหมายความว่า มันไม่ใช่ดาวในระบบดาวคู่ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์ของนาซา ที่แสดงให้เห็นว่ามีฝุ่นถูกพ่นออกมาจากบริเวณดังกล่าวหลายเดือน ก่อนหน้าที่จะมีการระเบิด 

ยิ่งไปกว่านั้น การระเบิดครั้งนี้ยังส่งพลังงานออกมาน้อยกว่าปริมาณที่เคยพบเห็นจากการรวมตัวของดาวฤกษ์ครั้งก่อนถึง 1,000 เท่า

ดี ชี้ว่า สิ่งที่มีมวลน้อยกว่าดาวฤกษ์ 1,000 เท่า ก็คือดาวเคราะห์ขนาดใหญ่อย่างดาวพฤหัสบดี

ทีมนักวิจัยจากเอ็มไอที, ฮาร์วาร์ดและคาลเทค ตั้งสมมุติฐานว่า ดาวเคราะห์ที่โดนกลืนนั้น เป็นกลุ่มแก๊สขนาดยักษ์ที่มีมวลเทียบเท่ากับดาวพฤหัสบดี แต่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของมันมากเสียจนมีรอบวงโคจรที่สั้นมาก โดยกินเวลาเพียงวันเดียว

ดาวฤกษ์ดวงนี้ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ของเรา ได้กลืนดาวเคราะห์ทั้งดวงภายในเวลาประมาณ 100 วัน โดยเริ่มจากบริเวณขอบด้านนอกก่อน ซึ่งทำให้มีการปล่อยฝุ่นออกมา

การระเบิดที่ให้แสงสว่างจ้านั้น เกิดขึ้นในช่วง 10 วันสุดท้าย ในระหว่างที่ดาวเคราะห์ทั้งดวงโดนทำลายลงอย่างสิ้นซาก และโดนผนวกรวมเข้าไปในมวลของดาวฤกษ์

มอร์แกน แมคคลาวด์ นักวิจัยหลังปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และผู้ร่วมเขียนงานวิจัยชิ้นนี้ กล่าวว่า ตามข้อมูลที่มีอยู่ คาดว่าดาวเคราะห์ส่วนใหญ่ซึ่งมีอยู่เป็นหมื่น ๆ ดวง นอกระบบสุริยจักรวาลนั้น หนีไม่พ้นชะตากรรมเดียวกันกับดาวเคราะห์ที่พวกเขาสังเกตการณ์ในครั้งนี้ เช่นเดียวกับโลกที่เราอาศัยอยู่

เมื่อดวงอาทิตย์ขยายตัวและกลืนกินดาวพุธ, ดาวศุกร์ ก็จะมาถึงโลกภายในระยะเวลาประมาณ 5,000 ล้านปี แต่ก่อนหน้านั้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า โลกของเราจะอยู่ในสภาพที่มนุษย์ไม่อาจอาศัยอยู่ได้อีกต่อไป เพราะความร้อนจากดวงอาทิตย์ที่กำลังจะดับนั้น จะทำให้น้ำบนโลกระเหยไปจนหมดสิ้นแล้ว

เครดิตภาพ : AFP