ดังนั้นเมื่อปริญญามิได้การันตีความสามารถในการทำงานได้เสมอไป และทักษะฝีมือ ความสามารถการทำงาน ทัศนคตินักศึกษา และความสนใจในการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีความสำคัญต่อการทำงานในอนาคต แล้ววันนี้มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวอย่างไร เพื่อตอบโจทย์ในเรื่องนี้? ทำให้วันนี้คอลัมน์ CEO Forum จึงจะพาไปพูดคุยกับ ดร.พรชัย มงคลวนิช อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ที่จะสะท้อนเรื่องนี้ไว้…

ดร.พรชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ได้เล่าว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยก่อตั้งมาครบ 50 ปี โดยพัฒนาจากสถาบันอาชีวศึกษา ที่เน้นด้านวิศวกรรมศาสตร์ภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดแห่งหนึ่งในขณะนั้น โดยผู้ก่อตั้ง คือ อาจารย์ ดร.ณรงค์ มงคลวนิช ได้เล็งเห็นศักยภาพของภาคเอกชน ที่จะร่วมกันจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอนาคตของชาติ จึงร่วมกับภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จัดตั้งวิทยาลัยเทคนิคสยามขึ้น โดยปณิธานการก่อตั้งอยู่ในตราสถาบัน อันได้แก่ ฟันเฟือง เรือใบ เกลียวเชือก และแผนที่ประเทศไทย ที่มีความหมายถึงความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อจัดการศึกษาที่จะนำมาซึ่งการสร้างเสริมการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ เพื่อยกระดับการแข่งขัน

อย่างไรก็ตาม แต่เมื่อโลกและเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การปรับปรุงมหาวิทยาลัยให้ทันสมัยจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยนักศึกษายุคใหม่จำเป็นจะต้องเรียนรู้แบบดิจิทัล อีกทั้งต้องเป็นนักสร้างนวัตกรรม และมีความเป็นผู้ประกอบการอยู่ในตัวด้วย ทั้งนี้ เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลง ไปพร้อม ๆ กับมุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ข้อขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นของโลกธุรกิจและอุตสาหกรรมยุคใหม่ ที่ต้องไม่เบียดเบียนทรัพยากรที่มีอยู่ของคนรุ่นต่อไป ทำให้การศึกษาในยุคใหม่ จึงต้องให้ความสำคัญกับความเสมอภาค ความเท่าเทียม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างนวัตกรรมความยั่งยืนร่วมกับชุมชนและสังคม

ด้วยเหตุผลดังกล่าว มหาวิทยาลัยสยามจึงเข้าร่วมการจัดอันดับ UI Green Matric ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2017 เป็นต้นมา โดยได้จัดทำรายงานความยั่งยืนในระดับมหาวิทยาลัยทุก ๆ ปี และปัจจุบันมหาวิทยาลัยสยามก็ติดอันดับมหาวิทยาลัยแห่งความยั่งยืน โดยอยู่อันดับ 102 ของโลก กับอันดับที่ 6 ของมหาวิทยาลัยไทย และอยู่อันดับที่ 1 ของมหาวิทยาลัยเอกชนไทย ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ได้เชิญมหาวิทยาลัยสยาม ให้เข้ามาเป็นสถาบันอุดมศึกษาที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมและการประกอบการตามโครงการ Reinventing University และสำหรับแนวทางดำเนินการให้ตอบโจทย์การศึกษาในอนาคตนั้น ทาง ดร.พรชัย ระบุว่า มหาวิทยาลัยสยาม ได้พัฒนานวัตกรรมทางการศึกษามากมาย อาทิ

1.การพัฒนาหลักสูตรที่เน้นผลลัพธ์การเรียนรู้ โดยเน้นทักษะการทำงานที่ทันสมัย ตรงใจผู้ประกอบการ รวมถึงออกแบบการเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น ที่เป็นลักษณะ Module เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของนักศึกษา ซึ่งจะทำให้นักศึกษาเลือก Module ข้ามคณะและสาขาวิชาได้ตามเป้าหมายชีวิตที่วางไว้ 2.การจัดการเรียนการสอนในแต่ละหลักสูตรแบบสหกิจศึกษา โดยร่วมมือกับผู้ประกอบการชั้นนำในสาขาต่าง ๆ เพื่อให้ผลลัพธ์การเรียนรู้ตอบโจทย์การทำงานจริง และช่วยเพิ่มโอกาสหางานได้ง่ายขึ้นให้แก่นักศึกษา 3.นักศึกษาแต่ละคนจะได้ศึกษาศาสตร์ที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อาทิ การสร้างนวัตกรรม การเป็นผู้ประกอบการ และการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจากรายวิชาต่าง ๆ เช่น Dream 101, Design Thinking และ Project Management พร้อมกับสร้างการมีส่วนร่วมในการเรียนรู้กับชุมชน หน่วยงานราชการ และภาคธุรกิจ

ทาง ดร.พรชัย ยังกล่าวอีกว่า นอกจากมหาวิทยาลัยสยามจะได้รับการจัดอันดับใน UI Green Matric แล้ว ยังได้รับรองจากสถาบันจัดอันดับระดับโลก เช่น Times Higher Education Impact Ranking, U Multirank, QS Asia Ranking ซึ่งได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 12 ของประเทศ ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยสยามยังเปรียบเสมือน Living Lab เรื่องความยั่งยืนที่สมบูรณ์แบบ โดยมีศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงมีการสนับสนุนนักศึกษาให้สร้าง Startup เพื่อร่วมมือในการแก้ปัญหา SDG ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

อีกทั้งในอนาคตมีแผนที่จะเปิดพื้นที่สร้างสรรค์นวัตกรรม ทั้งในมหาวิทยาลัยและชุมชนรอบมหาวิทยาลัย อาทิ Playground22, Block 38, Innovation Zone, Co-Creative Space และ Community Living Lab โดยเป็นความร่วมมือกับเขตภาษีเจริญ และเครือข่ายต่าง ๆ โดยทางอธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ได้ย้ำกับคอลัมน์ CEO Forum ทิ้งท้ายว่า ตั้งใจผลักดันให้ที่นี่เป็นชุมชนการเรียนรู้แบบยั่งยืน ที่ตอบสนองการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และเป็นที่ที่นักศึกษาไทย จะร่วมเรียนรู้กับนักศึกษาต่างชาติกว่า 1,000 คน จาก 42 ประเทศ ที่มีความหลากหลาย มีความเท่าเทียม มีอิสรภาพ โดยสามารถเลือกรูปแบบการเรียนรู้ได้อย่างยืดหยุ่น ให้เข้ากับเป้าหมายชีวิตแต่ละคน โดยมีคณาจารย์มืออาชีพ ที่พร้อมทุ่มเทและมีพันธมิตรจากภาคธุรกิจชั้นนำมาร่วมสร้างสรรค์เรื่องนี้ เพื่อต่อยอดการจ้างงาน และสร้างผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ที่ตอบสนองโลกอนาคต.