เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์ภัยมิจฉาชีพที่หลอกลวงประชาชนในรูปแบบต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่น SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโทรศัพท์ผ่าน Call Center แสดงตนอ้างว่าเป็นพนักงานบริษัทขนส่งหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องแจ้งว่ามีพัสดุผิดกฎหมายส่งมายังผู้รับหรือส่งพัสดุไปยังต่างประเทศซึ่งเกี่ยวข้องในการกระทำผิด ทำให้ผู้เสียหายหลงเชื่อ ยินยอมส่งข้อมูลส่วนตัวและโอนเงินไปให้ สร้างความเสียหายห้วงการแพร่ระบาดโควิด-19     

ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันประชาชนเป็นปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำกิจกรรมหรือธุรกรรมต่างๆ ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์หรือแอพพลิเคชั่นมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันเหล่ามิจฉาชีพได้อาศัยช่องว่างหลอกลวงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในลักษณะต่างๆ อาทิ ส่ง SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือโทรศัพท์ผ่านมือถือ ดังเช่นกรณีเมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา มิจฉาชีพแสดงตนว่าเป็นพนักงานบริษัทขนส่งหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โทรฯ ผ่านโทรศัพท์มือถือมาแจ้งกับผู้เสียหายว่ามีพัสดุที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมายส่งมายังที่อยู่ของผู้รับและมีการส่งพัสดุไปต่างประเทศ โดยทางบริษัทและเจ้าหน้าที่ของภาครัฐจะขอเข้าไปทำการตรวจสอบและดำเนินคดีตามขั้นตอนกฎหมาย ทำให้ผู้เสียหายตกใจกลัวและหลงเชื่อ จึงยินยอมส่งข้อมูลส่วนตัวและโอนเงินไปยังบัญชีที่แก๊งมิจฉาชีพได้แจ้ง เพื่อให้ทำการตรวจสอบเงินดังกล่าว ต่อมาภายหลังผู้เสียหายจึงรู้ว่าตนนั้นถูกหลอก ซึ่งในเบื้องต้นพบผู้เสียหายที่ถูกหลอกลวงในลักษณะเดียวกันในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศเกือบ 50 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 17 ล้านบาท โดยผู้เสียหายได้แจ้งความร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายไว้แล้ว

การกระทำลักษณะดังกล่าวนอกจากจะเป็นการซ้ำเติมพี่น้องประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนกันอยู่แล้ว ยังเข้าข่ายความผิดฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ด้วยข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ ในประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับและความผิดฐานฉ้อโกง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรือกฎหมายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องซึ่งในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว ผู้เสียหายจะต้องเข้าร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนในท้องที่เพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด

ทั้งนี้ฝากประชาสัมพันธ์ไปยังประชาชน ถึงแนวทางการป้องกันการถูกหลอกลวงผ่านแพลตฟอร์มหรือแอพพลิเคชั่นออนไลน์ SMS ไลน์ เฟซบุ๊ก หรือผ่านทางโทรศัพท์ ดังนี้ 1.หากมีการกล่าวอ้างว่าท่านไปเกี่ยวข้องการกระทำผิด ให้ตั้งสติ อย่าพึ่งตื่นตระหนกและหลงเชื่อ 2.ทำการบันทึกข้อมูลการสนทนา ภาพหรือวิดีโอ ข้อมูลการโอนเงิน เอกสารที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการดำเนินคดี 3.หากมีการอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ โดยหลักจะไม่มีการให้โอนเงินเข้าบัญชีส่วนบุคคลโดยเด็ดขาด 4.อย่ากดลิงก์ที่มิจฉาชีพ แนบมาพร้อมกับข้อความ SMS อีเมล เว็บไซต์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ 5.อย่าเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว ข้อมูลบัตรต่างๆ โดยแจ้งว่าจะติดต่อกลับไปภายหลัง หรือ รีบวางสาย นอกจากนี้หากพบเห็นเบาะแสการกระทำความผิด สามารถแจ้งไปยัง Call Center สำนักงานตำรวจแห่งชาติหมายเลขโทรศัพท์ 191 หรือ 1599 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง